สมเด็จพระนเรศวรฯในประวัติศาสตร์ชาวไต

16 กรกฎาคม 2018, 13:43:49


#สมเด็จพระนเรศวรฯในประวัติศาสตร์ชาวไต..เมื่อได้เห็นภาพการบวงสรวงบูชาไหว้ศาลสมเด็จพระนเรศวรฯ ที่ฐานเนินกองคาของทหารไตและได้เห็นหนุ่มน้อยทหารไทใหญ่ต่างมีเหรียญทองแดงรมดำรูปสมเด็จพระนเรศวรฯ แขวนเชือกป่านห้อยคอเป็น "ของขลัง" ประจำตัวนั้น ถือเป็นเรื่องน่าประหลาดใจยิ่ง ทั้งที่สมเด็จพระนเรศวรฯ เป็นกษัตริย์ไทยและเสด็จสวรรคตล่วงผ่านไปแล้วถึง400 ปี!



 
...#เจ้ายอดศึกผู้นำชาวไต ตอบคำถามสั้นๆ ถึงที่มาทางประวัติศาสตร์อันทำให้ทหารไทใหญ่นับถือสมเด็จพระนเรศวรฯ อย่างที่สุดว่า

...#พระนเรศวรฯกับเจ้าคำก่ายน้อยเจ้าฟ้าของไทใหญ่ ท่านเป็นเพื่อนกัน มีจุดมุ่งหมายเหมือนกัน คือต้องการรบม่าน ต้องการขับไล่ม่านออกจากแผ่นดินไทยและแผ่นดินไทใหญ่ คนไทใหญ่ถือว่าถ้าพระนเรศวรฯ ยังอยู่ ไทใหญ่จะไม่ลำบากอย่างนี้ เพราะท่านมีนโยบายปราบม่านให้หมดสิ้น คนไทใหญ่ทุกคนรู้เรื่องนี้ ผมศึกษาประวัติศาสตร์ ได้รู้ และเชื่อถือมาก ทหารไทใหญ่ทุกคนเชื่อเพราะรู้ประวัติศาสตร์ ผมอธิบายให้ฟังทุกคน"


 
"เจ้าคำก่ายน้อย" ที่พันเอกเจ้ายอดศึกกล่าวถึง คือเจ้าฟ้าวีรบุรุษคนหนึ่งของชาวไต ผู้เป็นสหายร่วมรบมากับสมเด็จพระนเรศวรฯ มีปรากฏในประวัติศาสตร์ที่คนไทใหญ่รับรู้มายาวนาน



 
ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับชนชาวไต ตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะกับมอญ กะเหรี่ยง ไทใหญ่นั้น มีความแนบแน่นลึกซึ้ง มอญ กะเหรี่ยง ไทใหญ่ คือ "ชาวด่าน" ที่คอยป้องกันขอบขัณฑสีมาจากการรุกรานของม่าน หลักฐานทางไทใหญ่กล่าวย้ำถึงสัมพันธภาพแน่นแฟ้นนี้ว่า จนแม้ไทใหญ่ที่ถูกกุมตัวเป็นเชลยอยู่กลางเมืองม่านเอง ก็พร้อมจะแข็งขืนไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจม่าน แต่มาฝักฝ่ายอยู่กับฝ่ายไทยซึ่งเป็นเชื้อชาติเดียวกัน ดังที่ "เคอแสน" นักประวัติศาสตร์ชาวไทใหญ่บันทึกไว้ในบทความ "สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและเจ้าคำก่ายน้อยแห่งไทใหญ่" ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนสิงหาคม 2545 ว่า ครั้งที่กษัตริย์บุเรงนองยกทัพเข้ามาตีเมืองไทย ลาว เชียงใหม่ เชียงห่ม ในปี พ.ศ. 2108 นั้น

"เจ้าฟ้าไทใหญ่และทหารไทใหญ่ที่ถูกจับเป็นเชลยอยู่ในเมืองหงสาวดีนั้นถือโอกาสจุดไฟเผาหอ, วังในเมืองหงสาวดีเสียหาย จนกระทั่งพวกอำมาตย์ของม่านต้องหนีไปอยู่ที่ "เมืองทละ" การเผาหอ, วัง ในครั้งนี้เจ้าฟ้าไต (ไทใหญ่) ให้เหตุผลว่า เพราะม่านทำการรุกรานนำทัพเข้าตีเมืองพี่เมืองน้องของไต หลังจากบุเรงนองทราบข่าวจึงรีบยกทัพกลับเมืองหงสาวดีทันที และจับเจ้าฟ้าไตและคนไตหมื่นกว่าคนทำการเผาทั้งเป็นที่เมืองหงสาวดี"



 
และ "เคอแสน" ยังกล่าวไว้อีกด้วยว่า สมเด็จพระนเรศวรฯ คือบุรพกษัตริย์ที่รวบรวมก่อตั้งอาณาจักรไทใหญ่ โดยที่สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงปรึกษากับเจ้าคำก่ายน้อย เจ้าฟ้าไทใหญ่ เพื่อจะสร้างกองทัพราชอาณาจักรไทย-ไทใหญ่ ให้เข้มแข็งถาวรต่อไปในวันข้างหน้า โดยทางไทใหญ่นั้นเจ้าคำก่ายน้อยรับอาสาที่จะเจรจากับเจ้าฟ้าไทใหญ่ทุกเมือง

ในปี พ.ศ.2143 สมเด็จพระนเรศวรฯ มีรับสั่งให้เจ้าคำก่ายน้อยนำกำลังทหารส่วนหนึ่งเข้าไปเมืองปั่น เมืองนาย ยองห้วย ไปจนถึงภาคกลาง และเจ้าฟ้าไทใหญ่ทุกเมืองพร้อมกันจัดตั้งเป็นพระราชอาณาจักรขึ้น โดยมีสมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงเป็นผู้นำ ส่วนช่วงที่สมเด็จพระนเรศวรฯ เสด็จขึ้นไปสวรรคตที่เมืองหางหลวง ในแผ่นดินรัฐฉาน ประวัติศาสตร์ไทใหญ่ระบุว่า ในครั้งนั้นสมเด็จพระนเรศวรฯ ได้ทรงยกทัพขึ้นไปช่วยเจ้าคำก่ายน้อย ที่กำลังทำศึกกับทหารจีนและทหารม่านซึ่งรุกรานเมืองไต แต่สมเด็จพระนเรศวรฯ สวรรคตเสียก่อน เจ้าคำก่ายน้อยจึงสู้รบต่อไปเพียงลำพัง และสิ้นพระชนม์กลางสนามรบที่เมืองแสนหวี ในปี พ.ศ. 2148 หลังการสวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรฯ ไม่นานนัก


 
สมเด็จพระนเรศวรฯ กับไทใหญ่ ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทย ความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างชาวไตกับทางฝ่ายไทย จนไทใหญ่ต้องสังเวยชีวิตไปหมื่นกว่าศพนี้ ยังมีเรื่องราวต่อเนื่องมาอีก ในช่วงที่สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงทำสงครามประกาศอิสรภาพจากการยึดครองของม่าน ครั้งนั้นทหารไทใหญ่ได้เป็นกำลังพลสำคัญ เป็นเพื่อนตายร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่มากับทหารไทย ต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติไทย กอบกู้เรียกคืนแผ่นดินจากการยึดครองของม่าน ดังมีหลักฐานทางฝ่ายไทย ปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียม กล่าวถึงในสมัยที่ไทยยังเป็นเมืองขึ้นของม่าน กษัตริย์ม่านเห็นว่าสมเด็จพระนเรศวรฯ นั้น "ประกอบไปด้วยปัญญาหลักแหลมลึกซึ้ง ทั้งการสงครามก็องอาจกล้าหาญ นานไปเห็นจะเป็นเสี้ยนศัตรูต่อเมืองหงสาวดีเป็นมั่นคง" พระเจ้าหงสาวดีจึงอ้างว่ากรุงอังวะเป็นกบฏขอให้สมเด็จพระนเรศวรฯ ยกทัพไปช่วยม่านปราบกบฏ แต่ขณะเดียวกันก็ลอบส่งแม่ทัพม่านคือ "นันทสุ" กับ "ราชสังคราม" เข้ามากวาดต้อนผู้คนจากเมืองกำแพงเพชรไปเป็นกำลังทัพ เพื่อตัดกำลังสมเด็จพระนเรศวรฯ ทั้งยังวางแผนลอบสังหารสมเด็จพระนเรศวรฯ อย่างแยบยล


...#ประวัติศาสตร์ช่วงนี้เองที่ระบุไว้ชัดเจนว่า คนไทใหญ่ที่ถูกนันทสุกับราชสังครามกวาดต้อนครัวไปเป็นกำลังฝ่ายม่านนั้น ไม่ยอมสยบและสู้รบแข็งขืนเต็มสามารถ ดังที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียม ว่า "ขณะนั้นพระยากำแพงเพชรส่งข่าวไปถวายว่า ไทใหญ่เวียงเสือ เสือต้าน เกียกกาย ขุนปลัด มังทราง มังนิ่ววายลองกับนายม้าทั้งปวงอันอยู่ ณ เมืองกำแพงเพชร พาครัวอพยพหนี พม่ามอญตามไปทัน ได้รบพุ่งกันตำบลหนองปลิงเป็นสามารถ ม่านมอญแตกแก่ไทใหญ่ทั้งปวงๆ ยกไปทางเมืองพระพิษณุโลก สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าทราบดังนั้น ก็ให้ม้าเร็วไปบอกแก่หลวงโกษา และลูกขุนอันอยู่รักษาเมืองพระพิษณุโลกว่าซึ่งไทใหญ่หนีมานั้นเกลือกจะไปเมืองอื่นให้แต่งออก (อายัด) ด่านเพชรบูรณ์ เมืองนครไทย ชาตระการ แสเซาให้มั่นคงไว้ อย่าให้ไทใหญ่ออกไปรอด หลวงโกษาและลูกขุนทั้งปวงทราบดังนั้น ก็แต่งออกไปกำชับด่านทางทั้งปวงตามรับสั่ง ฝ่ายไทใหญ่ก็พาครอบครัวตรงเข้ามาเมืองพระพิษณุโลก หลวงโกษาและลูกขุนทั้งปวงก็รับพิทักษ์รักษาไว้ นันทสุกับราชสังครามมีหนังสือมาให้ส่งไทใหญ่ หลวงโกษา และลูกขุนผู้อยู่รักษาเมืองพระพิษณุโลกก็มิได้ส่ง"

...#เมื่อสมเด็จพระนเรศวรฯ ทราบข่าวเรื่องกษัตริย์ม่าน ใช้แผนลวงพระองค์เรียกให้ยกทัพมาปราบกบฏเพื่อลอบสังหาร สมเด็จพระนเรศวรฯ เจ้าก็ได้ทรง "ตรัสแก่มุขมาตยาโยธาทั้งปวงว่า เราหาความผิดมิได้ ซึ่งพระเจ้าหงสาวดีคิดร้ายแก่เราก่อนนั้น อันแผ่นดินพระมหานครศรีอยุธยากับแผ่นดินหงสาวดี ขาดจากทางพระราชไมตรีกัน เพราะเป็นอกุศลกรรมนิยมสำหรับที่จะให้สมณพราหมณาประชาราษฎรได้ความเดือดร้อน แล้วพระหัตถ์ก็ทรงพระสุวรรณภิงคารหลั่งอุทกธาราลงเหนือพื้นพสุธาดล จึ่งออกพระโอษฐ์ ตรัสประกาศแก่เทพยเจ้าทั้งหลายอันมีมหิทธิฤทธิ์และทิพจักขุทิพโสต ซึ่งสถิตอยู่ทุกทิศานุทิศจงเป็นทิพพยาน ด้วยพระเจ้าหงสาวดีมิได้ตั้งอยู่โดยคลองสุจริตมิตรภาพขัตติยประเพณีเสียสามัคคีรสธรรม ประพฤติพาลทุจริตคิดจะทำภยันตรายแก่เรา ตั้งแต่วันนี้ไป กรุงพระมหานครศรีอยุธยากับเมืองหงสาวดีมิได้เป็นสุวรรณปัถพีเดียวกันดุจหนึ่งแต่ก่อน ขาดจากกันแต่วันนี้ไปตราบเท่ากัลปาวสาน"

#ส่วนทหารและประชาชนไทใหญ่ที่เข้ามาอยู่ในอารักขาของทางไทยนั้น ทางม่านได้ขอให้ส่งกลับไป ซึ่งบรรพชนทหารไทยคือหลวงโกษาและลูกขุนทั้งปวงผู้อยู่รักษาเมืองนั้น

"ก็นำบรรดานายไทใหญ่เข้าเฝ้า จึ่งบังคมทูลว่า มีหนังสือนันทสุ ราชสังคราม ซึ่งมาตั้งอยู่ ณ เมืองกำแพงเพชร มาให้ส่งไทใหญ่และครัวซึ่งหนีมาอยู่ ณ เมืองพระพิษณุโลก ข้าพเจ้าตอบไปว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวมิได้เสด็จอยู่ ซึ่งจะส่งไปนั้นยังมิได้ สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าทราบดังนั้นก็ตรัสให้มีหนังสือตอบไปว่าธรรมดาพระมหากษัตราธิราชผู้ดำรงทศพิธราชธรรมนั้น อุปมาดังร่มพระมหาโพธิ์อันใหญ่ และมีผู้มาพึ่งพระราชสมภาร หวังจะให้พ้นจากภัยอันตรายต่างๆ ซึ่งนันทสุกับราชสังครามจะให้ส่งไทใหญ่ไปนั้น ไม่ควรด้วยคลองขัตติยราชประเพณีธรรม"


 
พระเมตตาอันหาที่สุดมิได้ของสมเด็จพระนเรศวรฯ ต่อประชาชนไทใหญ่เช่นนี้เองที่ยังจารึกอยู่ในจิตใจของชาวไทใหญ่ สมเด็จพระนเรศวรฯ ในฐานะประดุจศูนย์รวมแห่งความเชื่อ ความศรัทธาในความกล้าหาญและพระเมตตาธรรมของพระองค์มาถึงปัจจุบัน

....#ความเชื่อในบารมีศักดิ์สิทธิ์ของสมเด็จพระนเรศวรที่จะคุ้มครองนักรบชาวไต ยังรองรับอยู่ด้วยรูปธรรมของเจดีย์บรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระนเรศวรฯ๑ ที่เมืองหาง ชายแดนไทย-รัฐฉาน ซึ่งก่อนออกรบกับทหารม่านแต่ละครั้ง เจ้าน้อยมักจะนำนายทหารไทใหญ่เดินทางไปสักการะเจดีย์องค์นี้ ผลปรากฏว่า ตั้งแต่การรบครั้งแรก และในการรบช่วงปีแรก ทหารไทใหญ่สามารถเอาชนะทหารม่านได้ทุกครั้ง ทั้งๆ ที่มีกำลังพลและอาวุธน้อยกว่า

เจ้าน้อยซอหยั่นต๊ะผู้นำขบวนการหนุ่มศึกหาญ กล่าวอย่างมั่นใจว่า ชัยชนะของไทใหญ่ "เป็นด้วยบุญบารมีของพระวิญญาณของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ทรงบันดาลให้พวกหนุ่มศึกหาญประสบความสำเร็จ"

นอกจากนี้เจ้าน้อยซอหยั่นต๊ะยังกล่าวถึงประสบการณ์ที่แสดงว่าพระวิญญาณของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ทรงคุ้มครองนักรบไทใหญ่ ซึ่งปราณี ศิริธร เล่าไว้ในหนังสือสารัตถคดีเหนือแคว้นแดนสยาม ว่า

"ในคืนนั้น เวลาประมาณ 02.00 น. กองทหารม่านพร้อมด้วยอาวุธ และกำลังพล 200 คนเศษ ได้เคลื่อนกำลังอย่างเงียบเชียบที่สุด โดยการนำทางของสายลับ ที่สืบทราบอย่างแน่ชัดถึงหน่วยที่ตั้งกองกำลังหนุ่มศึกหาญ

เมื่อมาถึง นายทหารม่านได้นำกำลังโอบล้อมไว้โดยรอบ พร้อมที่จะลั่นกระสุนสังหารหน่วยหนุ่มศึกหาญที่นอนหลับพักผ่อนอย่างสบาย โดยมิได้ระมัดระวังตัว แต่กลับปรากฏว่า ในบริเวณป่าแห่งนั้น มิใช่ป่าไม้หนาทึบตามที่สายลับรายงาน หากเป็นบริเวณอันกว้างขวาง มีป้อมค่ายทหาร ซึ่งสร้างด้วยไม้ไผ่แข็งแรง สามารถสกัดการบุกของข้าศึกจำนวนพัน ทั่วบริเวณแห่งนั้น มีขอนไม้สุมไฟกองเป็นระยะ มีทหารนับจำนวนเป็นร้อยๆ กำลังอยู่ในลักษณะเตรียมพร้อมที่จะต่อสู้ บ้างก็ยืนยามระมัดระวังตน บ้างก็นั่งผิงไฟยามหนาว มีกองช้าง กองม้าเรียงรายอยู่นอกค่าย ส่งเสียงร้องคำรณอยู่ไม่ขาดหาย ภายในค่ายก็ยังมีทหารคุยกันเป็นภาษาไทยอย่างชัดเจน

 

เมื่อมาประสบเหตุการณ์อย่างคาดไม่ถึงเช่นนี้ นายทหารม่าน ซึ่งส่งมาจากร่างกุ้ง เป็นหัวหน้าหน่วยลาดตระเวนถึงกับตะลึงงัน ไม่กล้าบุกเข้าโจมตี เพราะกำลังพลที่นำไป 200 กว่าคนน้อยกว่ามากนัก จึงต้องติดต่อรายงานไปยังผู้บังคับบัญชา โดยเข้าใจว่ากองทัพบกของไทยได้ส่งทหารไทยเข้ามาตั้งป้อมค่ายช่วยเหลือพวกกู้ชาติไต (ไทใหญ่) ทำให้เกิดลังเลใจขึ้นไม่กล้าสั่งบุก ประกอบกับเสียงช้างม้า ส่งเสียงร้องขรมทั่วไปหมด คล้ายบอกสัญญาณอันตราย สายลับก็เต็มไปด้วยความแปลกใจ ในสิ่งที่ตรงข้ามที่ตนสืบทราบเมื่อสองวันก่อน ไม่มีวี่แววจะมีค่ายพักหอรบและป้อมค่ายทหารอย่างใดเลย สร้างความผิดหวังให้แก่ม่านเป็นอย่างมาก ในที่สุดก็ต้องรีบถอนกำลังอย่างเงียบเชียบ ถอยกลับออกไปพร้อมด้วยความฉงนสนเท่ห์ และเคลื่อนย้ายที่ตั้งกำลังของตนไปอีกจุดหนึ่ง

อีกสองวันต่อมา เพื่อให้หายสงสัย กองทหารม่านได้ออกมาลาดตระเวนยังจุดที่ตั้งป้อมค่ายที่ตนพบเห็น ด้วยการใช้กล้องส่องทางไกล สำรวจดูอย่างถี่ถ้วน ก็ปรากฏว่าไม่มีป้อมค่าย ไม่มีกำลังทหารไทย ไม่มีเสียงช้างม้า ไม่มีอาณาบริเวณตั้งทัพอันกว้างขวาง ไม่มีแม้แต่ไฟสุมขอนที่เห็นอยู่ในคืนวันนั้น มีแต่ป่าทึบ ไม้ไร่ขึ้นระเกะระกะ เช่นที่ได้มาเห็นในคราวมาสืบฐานที่ตั้งของหนุ่มศึกหาญ คือเป็นป่าอยู่ตามเดิม แต่ก็ยังไม่แน่ใจ หน่วยลาดตระเวนม่านจึงได้บุกเข้าไปสำรวจจนถึงที่ ก็ไม่พบซากอะไร นอกจากป่าไม้ที่รกรุงรัง


 
ด้วยความมหัศจรรย์เช่นนี้ ทำให้ทหารม่านตื่นเต้น แปลกใจ โจษขานกันไปทั่วทั้งกองทัพม่านและรู้กันทั่วไปถึงชาวไตเมืองหาง เมืองต่วน ต่างร่ำลือถึงอภินิหารของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ได้แสดงเดชานุภาพ ปกป้องคุ้มครองหนุ่มศึกหาญ ให้พ้นจากอันตรายในครั้งนี้"

ส่วนทางพันเอกเครือเสือ อดีตพระภิกษุปัณฑิต๊ะ รองหัวหน้าขบวนการหนุ่มศึกหาญ ยังกล่าวถึงพระวิญญาณของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชว่า พระองค์ได้ทรงพระมหากรุณาธิคุณ คอยช่วยเหลือปกป้องหน่วยกู้ชาติไตไว้หลายครั้งหลายหน แทนที่จะตายหมู่กลับแคล้วคลาด รอดตายไปได้ เจ้าเครือเสือได้ยืนยันว่า เวลากลางคืนพระองค์ทรงเคยมาเข้านิมิต สั่งให้ย้ายกำลังให้พ้นจากบริเวณที่พักโดยเร็ว ไม่อย่างนั้นจะตายกันหมด เมื่อสะดุ้งตื่นขึ้นได้ออกคำสั่งย้ายทันที เมื่อย้ายไปเพียง 2-3ชั่วโมง ก็ปรากฏว่ากองทหารม่านตามมาถึงบริเวณที่หน่วยกู้ชาติตั้งอยู่เดิม เป็นเช่นนี้อยู่เสมอ บางทีก็ทำให้เกิดสังหรณ์ว่ากองทหารม่านจะบุกเข้าจับตัว แล้วรีบเคลื่อนย้ายกำลังออกไป ก็ปรากฏว่ากองทหารม่านบุกเข้ามายังที่ตั้งเดิมจริงๆ


 
การไปบวงสรวงสักการะเจดีย์สมเด็จพระนเรศวรฯ ของนักรบกู้ชาติหนุ่มศึกหาญ จนได้รับชัยชนะในทุกครั้งที่ออกรบ ทำให้เกิดคำเล่าลือว่าสมเด็จพระนเรศวรฯ มาช่วยทหารไทใหญ่กู้ชาติ คำเล่าลือนี้มีผลสะเทือนอย่างยิ่ง สามารถสร้างขวัญกำลังใจให้กับทหารและประชาชนไทใหญ่ พร้อมจะสนับสนุนขบวนการกู้ชาติมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ในปี พ.ศ. 2502 ทหารม่านจึงให้ทหารกะฉิ่น ฉิ่น ยะไข่ ลักลอบระเบิดเจดีย์สมเด็จพระนเรศวรฯและใช้รถแทร็กเตอร์ไถกวาดซากเจดีย์ลงทิ้งแม่น้ำหาง

แต่ถึงอย่างนั้นความเคารพเลื่อมใสในองค์สมเด็จพระนเรศวรฯ ในหมู่ชาวไทใหญ่ก็ยังมั่นคงไม่เสื่อมคลาย หลังเหตุการณ์ครั้งนี้ "ศึกไต" หรือทหารไทใหญ่ยิ่งเชื่อกันว่าสมเด็จพระนเรศวรฯ เสด็จมาช่วยทหารไทใหญ่รบจริงๆ มิฉะนั้นทหารม่านคงไม่มาทำลายพระเจดีย์องค์นี้


 
แม้จะเหลือแต่อิฐหักกากปูน แต่ชาวบ้านและทหารไทใหญ่ก็ยังเก็บเอาซากอิฐ มาทำเป็นวัตถุบูชากันต่อไป ทั้งเอาไปวางบนหิ้งพระ บางคนนำไปให้ช่างฝีมือแกะสลักเป็นพระรูปของสมเด็จพระนเรศวรฯ ใช้พกติดตัวเป็นเครื่องรางไว้คุ้มครองในยามออกรบกับทหารม่าน

ส่วนเหรียญบูชารูปสมเด็จพระนเรศวรฯ รุ่นแรกที่จัดทำขึ้นในรุ่นเจ้าน้อย-จอมพลสฤษดิ์ ก็ยิ่งกลายเป็นวัตถุมงคลหายาก มีราคาสูงถึงหลักหมื่นในปัจจุบัน ทั้งเป็นที่เคารพและต้องการในหมู่นักรบไทใหญ่อย่างยิ่ง

ส่วนซากเจดีย์สมเด็จพระนเรศวรฯ ที่ถูกม่านระเบิดทิ้งที่เมืองหางนั้น ในปี พ.ศ. 2512 พ.ต.อ.นิรันดร ชัยนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในขณะนั้น ได้ติดต่อทหารไทใหญ่ที่ประจำการอยู่ในหมู่บ้านเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ให้ขี่ม้าไปยังเมืองหาง เขตรัฐฉาน เพื่อนำอิฐจากพระสถูปเจดีย์องค์เดิมมาเป็นฐานของเจดีย์สมเด็จพระนเรศวรฯ ที่จะสร้างใหม่ที่ตำบลเมืองงาย อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

พระเจดีย์องค์ใหม่นี้ มีชื่อเป็นทางการว่า "พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช" ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 25 ไร่ เริ่มสร้างเมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2512 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2513 ตัวพระสถูปเจดีย์เป็นทรงระฆังคว่ำ ฐานกว้าง 10.30x 25.12 เมตร มีพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงยืน ถือคนโทในลักษณะคว่ำลง รอบพระสถูปมีภาพปั้นดินเผาเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ทั้งหมด 4 ภาพ ภาพแรกเป็นภาพเดียวกับพระบรมรูปด้านหน้า อีก 3 ภาพเป็นภาพสงครามยุทธหัตถี ภาพเสด็จพระราชดำเนินท่ามกลางพสกนิกรจำนวนมาก และภาพพระราชทานเพลิงศพ




**********************************************************************************************************************************************
บริการจัดทัวร์ 
เชียงตุง เมืองยอง สิบสองปันนา คุนหมิงจีน หลวงพระบาง วังเวียงลาว มัณฑเลย์ พุกาม ทะเลสาบอินเล ตองจีรัฐฉาน

บริษัท เชียงตุงเรียลเอสเตท แอนด์ ทราเวล จำกัด
เลขที่ใบอนุญาต 21/00833
โทร : 092-891-2277,093-2537733,053-727255
ไลน์ไอดี : @chiangtung
เว๊ปไซค์ : Chiangtungbiz.com
youtube:http://bit.ly/2HDFdMO
 

บทความที่คุณอาจสนใจ

เปิดประวัติ "ท้าวทองกีบม้า" ราชินีขนมไทยใน "บุพเพสันนิวาส" จากสูงสุดสู่จุดต่ำสุดในชีวิต

หากยังไม่รู้จักความหมายของ ยันต์ 5 แถว มากพอ เปิด ข้อห้าม และ ข้อปฏิบัติ ของคนที่สักยันต์ 5 แถว

โปสการ์ดเก่าที่พิมพ์ขึ้นในค.ศ.1939

เจ้าฟ้าแสนหวี

-เรียนรู้ประวัติศาสตร์ "คนเมือง" ในเวียงเชียงใหม่

ชาติพันธุ์เก่าก่อนบนผืนแผนแดนล้านนา

บริษัท ไชยนารายณ์ โกลเบิ้ล จำกัด

66 หมู่1 ถนนโชคชัย4 แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพ 10320

Tel ซื้อสินค้า : 063 5599 896

Tel ซื้อสินค้า : 092 891 2277

Tel ท่องเที่ยว :

Line ซื้อสินค้า : @chainarai

Line ท่องเที่ยว : @chainarai

Email : chainarai456@gmail.com

แผนที่

เพจ สิบสองปันนา หลวงพระบาง

เพจ เชียงตุง อยู่ดีกินหวาน