การตั้งถิ่นฐานของคนเมืองในเวียงเชียงใหม่

09 กุมภาพันธ์ 2019, 15:17:44

การตั้งถิ่นฐานของ “คนเมือง” ในเวียงเชียงใหม่


 
นครเชียงใหม่หรืออาณาจักรล้านนาเดิม เคยเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดในฐานะของเมืองอันเป็นศูนย์กลางของอาณาจักร ก่อนปี พ.ศ.2101 ผืนแผ่นดินล้านนาแห่งนี้ร่มเย็นสงบสุข มั่งคั่งด้วยการค้า เฟื่องฟูด้วยพระศาสนามาช้านาน แต่แล้วเงาดำของสงครามก็ได้พาดผ่านเชียงใหม่เมื่อพระเจ้าหงสาวดีบยินนอง (พระเจ้าบุเรงนอง) ในตอนหลังได้กลายเป็นวีรบุรุษของชาวพม่าได้ยกกองทัพเข้ามาตีเมืองเชียงใหม่จนแตกสลายประชาชนพลเมืองล้านนาถูกกดขี่ข่มเหงได้รับความเดือดร้อนจากการปกครองของพม่าผู้คนชาวเมืองเชียงใหม่ล้มหายตายจากด้วยพิษสงคราม บางคนอพยพหนีเข้าป่าส่วนคนที่ไม่มีทางสู้ก็ต้องตกเป็นเชลย

แผ่นดินล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าราว 200 กว่าปี ในช่วงระยะเวลานี้ศิลปกรรมต่าง ๆ ของล้านนาได้ถูกผสมกลมกลืนกับแบบพม่าดังปรากฏตามวัดต่าง ๆ ในปัจจุบัน ชาวเงี้ยวหรือพม่าเข้ามาตั้งบ้านเรือนและเดินขวักไขว่กันอยู่เต็มเมือง คนเมืองหรือคนพื้นถิ่นเดิมแทบไม่มีปรากฏให้เห็น นอกจากเมืองเชียงใหม่ที่ถูกพม่าเข้ายึดตีแล้ว หัวเมืองเล็ก ๆ ที่อยู่ไม่ไกลจากเชียงใหม่เช่น เมืองลำพูนเองก็พลอยได้รับผลกระทบดังกล่าวด้วย
กาลเวลาล่วงเลยมาจนถึงปี พ.ศ.2314 กองทัพจากกรุงธนบุรีร่วมกับกำลังของพระยากาวิละและพญาจ่าบ้านได้ตีเมืองเชียงใหม่คืนจากพม่า หลังจากที่ตีเมืองเชียงใหม่คืนจากพม่าได้แล้ว สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้ทรงแต่งตั้งพระยากาวิละขึ้นเป็น พระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองเชียงใหม่ แต่เมืองเชียงใหม่ในครั้งนั้นเป็นเมืองร้างไร้ผู้คนอาศัย เนื่องจากถูกพม่ากวาดต้อนไปหลายครั้ง


 
จากตำนานหลักฐานต่าง ๆ ได้กล่าวถึงเมื่อพระเจ้ากาวิละได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่แล้ว ได้รวบรวมผู้คนไพร่พลจากเมืองลำปาง 300 คนมาสมทบกับกำลังของพญาจ่าบ้านที่เวียงสะแกงอีก 700 คน มาตั้งมั่นที่เวียงป่าซางเป็นเวลากว่า 14 ปี จนถึงปี พ.ศ.2339 พระเจ้ากาวิละจึงสามารถเข้าไปตั้งมั่นที่เมืองเชียงใหม่ได้ ในช่วงระยะนี้พระเจ้ากาวิละได้ไปเกลี้ยกล่อมเจ้าฟ้าเมืองยอง เมืองฝาง เมืองเชียงรายและเมืองสาด หัวเมืองเหล่านี้ยินยอมที่จะต่อต้านอำนาจของพม่า โดยเจ้าเมืองยองยอมทิ้งเมืองแล้วพาไพร่พลมาอยู่ที่เวียงป่าซาง
เมื่อพระเจ้ากาวิละเข้าไปตั้งมั่นที่เมืองเชียงใหม่แล้ว ได้มีความพยายามที่จะขับไล่อิทธิพลของพม่าให้ออกไปจากล้านนา ในปี พ.ศ.2345 เริ่มตีเมืองเชียงตุงและเมืองสาดสำเร็จ ต่อมาในปี พ.ศ.2347 ได้เข้าตีเมืองเชียงแสนโดยกองทัพผสมจากเมืองเชียงใหม่ กรุงเทพฯ ลำปาง เวียงจันทน์และเมืองน่าน ชาวเมืองเชียงแสนถูกกวาดต้อนเป็นจำนวนมากและได้แบ่งไปไว้ตามเมืองต่าง ๆ
หลังจากที่ได้รับชัยชนะจากเมืองเชียงแสนแล้ว กองทัพจากเมืองเชียงใหม่ได้ขึ้นไปกวาดต้อนไพร่พลตามเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ทางเหนือเมืองเชียงแสน โดยเข้าไปกวาดต้อนที่เมืองยอง เมืองยู้ เมืองหลวย เมืองเชียงตุง เมืองเชียงขาง เมืองวะ เมืองลวง เมืองมาง ฯลฯ ตามนโยบายของพระเจ้ากาวิละที่ต้องการไพร่พลมาช่วยฟื้นฟูเมืองที่รกร้าง อีกประการหนึ่งเพื่อไม่ให้พม่าใช้เป็นฐานที่มั่นมาโจมตีล้านนาอีก
การกวาดต้อนผู้คนครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ล้านนา ทำให้เกิดการตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ในเขตเมืองเชียงใหม่ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ โดยกำหนดประเภทของไพร่พลที่ถูกกวาดต้อนมา หากเป็นช่างฝีมือชั้นดีจะกำหนดให้อยู่ในเมือง เช่นชาวเขินที่ต.หายยา อพยพมาจากเมืองเชียงตุงเชี่ยวชาญการทำเครื่องเขินมาอยู่เชียงใหม่ระหว่างกำแพงเมืองชั้นนอกและชั้นในด้านทิศใต้ ชาวยวนบ้านฮ่อมเชี่ยวชาญการทำดอกไม้กระดาษอยู่ระหว่างกำแพงเมืองชั้นนอกและชั้นในด้านทิศตะวันออก กลุ่มไตหรือไทใหญ่เชี่ยวชาญด้านการค้าอยู่บริเวณช้างเผือกและช้างม่อย ส่วนช่างที่ไร้ฝีมือจะให้ไปตั้งถิ่นฐานอยู่นอกเมือง ซึ่งพอสรุปได้ว่า เขตกำแพงเมืองเชียงใหม่ชั้นนอกเป็นที่อยู่ของช่างและพ่อค้าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลาย อาทิ ชาวเขิน มอญ พม่า ไทใหญ่ ส่วนเขตกำแพงเมืองเชียงใหม่ชั้นในกำหนดให้เฉพาะชาวไทยวน หรือ คนเมืองอาศัยอยู่


 

 

บริเวณกำแพงเมืองเชียงใหม่ชั้นนอก มีหลายกลุ่มชาติพันธุ์ที่อพยพกวาดต้อนเข้ามาอาศัยอยู่ในเชียงใหม่ และได้ดำรงวิถีแห่งชาติพันธุ์ตนจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ ชาวไทเขินบ้านเมืองสาด ในอดีตเมืองสาดเป็นหัวเมืองที่มีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ไพศาลอยู่ใกล้กับเมืองเขมรัฐตุงคะบุรีหรือเวียงเชียงตุง การเดินทางไปเมืองนี้จากเชียงตุงต้องใช้เวลาเดินทางถึง 7 วัน 7 คืน สมัยของพระยากาวิละเรืองอำนาจในยุคฟื้นม่านแทงม่านหรือ “ยุคเก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง” ชาวบ้านเมืองสาดถูกกวาดต้อนลงมาโดยมี หมื่นหลวง หมื่นน้อยเจ้าพ่อเมืองสาด แสนเมืองมา น้อยวงศ์เมืองแจด ลงมาเป็นข้าราชบริพาร
หลังจากที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาทางเมืองฝางใช้เวลาเดินเท้าจากเมืองสาดมาถึงเชียงใหม่รวมทั้งสิ้น 16 คืน จากนั้นจึงได้มาตั้งถิ่นฐานในบริเวณที่ราบลุ่มฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง
ชาวบ้านเมืองสาดที่อพยพมาอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิงในปัจจุบันสืบเชื้อสายมาจากชาวไทเขิน การดำเนินชีวิตแบบพื้นบ้านดั่งเดิมไทเขินได้เกิดการผสมผสานทางศิลปวัฒนธรรมความเชื่อ ภาษาและประเพณี ชาวเมืองสาดได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเมืองเชียงใหม่อย่างกลมกลืนโดยสมบูรณ์และได้เปลี่ยนชื่อจากเมืองสาด (เดิม) มาเป็นเมืองสาตร (ใหม่)
ชุมชนวัวลาย เป็นชุมชนวัฒนธรรมย่านการค้าที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่ เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.1981 พญาสามฝั่งแกนได้สร้างวัดหมื่นสารขึ้นเป็นศูนย์กลางชุมชน ต่อมาสมัยพระเจ้ากาวิละได้ไปกวาดต้อนผู้คนจากชุมชนงัวลายบริเวณลุ่มแม่น้ำคง และชุมชนชาวเขินจากเมืองเชียงตุง อพยพลงมาตั้งรกรากอยู่ในเชียงใหม่ และให้บรรดาช่างฝีมือต่าง ๆ อาศัยอยู่ในบริเวณในและนอกกำแพงเมือง กลุ่มช่างเงินมาตั้งรกรากอยู่ใกล้กับกลุ่มไทเขิน โดยมีวัดนันตาราม วัดศรีสุพรรณ และวัดพวกเปีย เป็นศูนย์กลางชุมชนและเรียกชื่อหมู่บ้านใหม่ตามชื่อของหมู่บ้านเดิมว่า “งัวลาย” หรือ “วัวลาย”
ในยุคแรกของการทำเครื่องเงินจะทำเป็นส่วยเพื่อถวายแด่เจ้าเมือง แต่เมื่อเศรษฐกิจขยายตัวเมืองเชียงใหม่กลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าของล้านนา มีการติดต่อซื้อขายกับดินแดนอื่นโดยรอบไม่ว่าจะเป็นพม่า ลาวหรือแม้แต่ชาวเขาเผ่าต่าง ๆ เครื่องเงินเริ่มกลายเป็นสินค้าแลกเปลี่ยนซื้อขายกับสินค้าชนิดอื่น สามัญชนเริ่มครอบครองเครื่องเงินได้ในขณะที่เจ้านายเปลี่ยนไปใช้เครื่องทองแทน
ชุมชนบ้านช่างหล่อ ถือได้ว่าเป็นชุมชนเดียวที่มีการหล่อโลหะขึ้นในชีวิตประจำวัน ซึ่งล้วนแล้วเกิดจากศรัทธาของชาวล้านนาที่มีต่อพระพุทธศาสนาอันเป็นผลให้เกิดรูปธรรมในงานหัตถศิลป์ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงให้ปรากฏเป็นหลักฐานของความเจริญรุ่งเรืองในอดีต


 
ภายหลังที่พระเจ้ากาวิละได้ทรงขับไล่พม่าออกจากเมืองเชียงใหม่ในปีพ.ศ. 2339 แล้วทรงให้ผู้คนที่กวาดต้อนมาจากเมืองยองไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองลำพูน ส่วนเมืองสาตรให้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ฝั่งตะวันออกแม่น้ำปิง ชาวเมืองมางให้ตั้งถิ่นอยู่ทิศใต้ของกำแพงเมือง โดยให้ผู้ที่มีความรู้งานช่าง (สล่า) กระจายกันอยู่ตามชุมชนระแวกใกล้กับประตูเชียงใหม่ ดังนั้นเราจึงพบว่าบริเวณทางทิศใต้ของตัวเมืองหรือประตูเชียงใหม่จะมีชุมชนฝีมือต่าง ๆ อาศัยอยู่เช่น ช่างเงิน ,ช่างแต้ม ,ช่างฆ้อง ,ช่างหล่อ เป็นต้น โดยเฉพาะชุมชนบ้านช่างหล่อปัจจุบันถือได้ว่าเหลืออยู่เพียงกลุ่มสุดท้ายก็ว่าได้
ชุมชนวัดเกต เป็นชุมชนโบราณตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำปิงด้านตะวันออก จากเอกสารของวัดเกตการามระบุว่า วัดนี้สร้างขึ้นราว พ.ศ.1971 รัชสมัยพญาสามฝั่งแก่น (พ.ศ.1945 -1984) กษัตริย์ล้านนาราชวงศ์มังราย ลำดับที่ 8 ตามเอกสารนี้ วัดเกตการาม น่าจะมีอายุไม่น้อยกว่า 560 ปี จากตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ระบุถึงท่าวัดเกต เมื่อ จ.ศ.1098 หรือ พ.ศ.2270 สมัยที่พม่าปกครองเมืองเชียงใหม่บ้านเมืองไม่สงบ มีการส้องสุมผู้คนแย่งชิงความเป็นใหญ่รบราฆ่าฟันกันอยู่เสมอ
ในยุคที่พม่าหมดอิทธิพลไปจากที่ราบเชียงใหม่ – ลำพูน ตั้งแต่ราวปี พ.ศ.2317 – 2325 จนกระทั่งพระเจ้ากาวิละและญาติพี่น้องยกกำลังจากเวียงป่าซางเข้ามาตั้งที่เมืองเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.2339 แล้ว ได้บูรณะปฏิสังขรณ์บ้านเมืองและวัดวาอารามให้มั่งคงรุ่งเรือง ชุมชนวัดเกตและท่าวัดเกตก็กลับมามีความสำคัญและคึกคักขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ในฐานะที่เป็นชุมชนทางการค้าทางบก พ่อค้าจีนฮ่อ พ่อค้าเงี้ยว (ไทใหญ่) พ่อค้าวัวต่างในท้องถิ่นและจากหัวเมืองทางตอนบน เช่น เมืองฝาง เชียงราย เชียงแสน เชียงของ ท่าขี้เหล็ก ท่าเดื่อ เมืองวะ เมืองเล็น เมืองพะยาก เชียงตุง เชียงลาบ เมืองยอง เมืองยู้ เมืองหลวย เมืองต่าง ๆ ในสิบสองพันนา เช่น เมืองลวง เชียงรุ่ง เมืองฮาย เลยขึ้นไปถึงเมืองซือเหมาหรือเมืองลาฮ่อและเมืองคุนหมิง หัวเมืองไทใหญ่ด้านตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำคงหรือแม่น้ำสาละวิน เช่น เมืองปุ เมืองปั่น เมืองนาย ด้านตะวันออกได้แก่ เมืองแพร่ เมืองน่าน บ่อแก้ว เวียงภูคา หลวงน้ำทา หลวงพระบาง เป็นต้น
ปัจจุบันชุมชนวัดเกต มีความโดดเด่นแตกต่างจากชุมชนอื่นในเมืองเชียงใหม่ ท่าวัดเกตบนฝั่งแม่น้ำปิงจึงอยู่ท่ามกลางบริบทที่หลากหลาย ทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม กล่าวคือเป็นที่รองรับผู้คนหลากหลาย ได้แก่ คนเมือง คนไทกลุ่มต่าง ๆ จากเชียงตุงและรัฐฉาน สิบสองพันนา หลวงพระบาง ล้านช้าง พ่อค้าชาวจีนจากเมืองบางกอก จีนฮ่อจากยูนนาน แขกอินเดีย ฝรั่งมิชชั่นนารี ชุมชนแห่งนี้จึงมีผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างผสมผสานหลายศาสนา
โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีความสำคัญและมีบทบาททางสังคมและวัฒนธรรมมากกว่าคนกลุ่มอื่นในบริเวณท่าวัดเกตคือ กลุ่มพ่อค้าชาวจีน นั่นเอง
ชุมชนชาวเงี้ยว หรือ ไทยใหญ่ บ้านเหมืองกุง บ้านขุนแส ในเขตอำเภอหางดง นับเป็นชุมชนชาวเงี้ยวกลุ่มสุดท้ายที่อาศัยอยู่ในเมืองเชียงใหม่ บรรพบุรุษของชาวเงี้ยว แต่เดิมถูกกวาดต้อนและอพยพมาจากเมืองปุและเมืองสาดในเขตรัฐฉานของพม่า
จากหลักฐานเอกสารที่พบในช่วงเวลาของการฟื้นฟูล้านนานั้น ได้ปรากฏชื่อของเมืองปุและเมืองสาด ที่ถูกกองทัพของเชียงใหม่ไปตีและกวาดต้อนไพร่พลมาไว้ที่เชียงใหม่ ตั้งแต่เมื่อสมัยของพระเจ้ากาวิละถึง 3 ครั้งและครั้งหลังสุดในสมัยของพระยาพุทธวงศ์ได้ขึ้นไปตีอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งมีรายละเอียดปรากฏในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่อย่างชัดเจนว่า
“ในปีจุลศักราช 1200 นั้น พระยาเชียงใหม่ได้ทราบข่าวว่า เจ้าฟ้าเงี้ยวเมืองนาย แต่งคนมาตั้งอยู่ในแขวงเมืองสาด เมืองต่วน อันเป็นดินแดนแว่นแคว้นเมืองเชียงใหม่ พระยาเชียงใหม่จึงแต่งให้พระยาอุปราช พระยาราชวงศ์ พระยาเมืองแก้ว คุมกำลังลี้พลเมืองเชียงใหม่ 5,300 คน เป็นกองทัพหนึ่ง ฝ่ายเมืองลำพูนก็ให้เจ้าอุปราช เจ้าน้อยคำวงศ์ คุมกำลังเมืองลำพูน 900 คน ทัพหนึ่งยกขึ้นไปตีต้อนครัวเงี้ยวไทใหญ่ที่มาตั้งอยู่เมืองปุ เมืองสาด เมืองต่วน นั้นลงมาสิ้น..”
ดังนั้นจึงสันนิษฐานว่า กลุ่มชาวเงี้ยวที่ถูกกวาดต้อนมาอยู่ที่บ้านน้ำต้น บ้านมะกายอนในเขตอำเภอสันป่าตอง น่าจะเป็นกลุ่มชาวเงี้ยวรุ่นเดียวกับที่ถูกกวาดต้อนมาในสมัยเจ้าพระยากาวิโรรสสุริยวงศ์ แต่การตรวจสอบทางเอกสารไม่อาจยืนยันได้แน่ชัดว่า กลุ่มชาวเงี้ยวในหมู่บ้านเหมืองกุง บ้านขุนแส เขตอำเภอหางดงจะเป็นเงี้ยวกลุ่มเดียวกันหรือไม่ แต่จากหลักฐานแวดล้อมก็ทำให้เชื่อได้ว่า ชาวเงี้ยวที่มีความรู้ในการปั้นน้ำต้นนั้น ล้วนเป็นชาวเงี้ยวที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาในช่วงเวลาฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ทั้งสิ้น
เชียงใหม่ในอดีตเคยเป็นอาณาจักรล้านนาที่ยิ่งใหญ่ไพบูลย์ รุ่งเรืองด้วยศิลปะและวัฒนธรรม มีเมืองเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการค้า การเมืองการปกครอง แม้ภายหลังคนเมืองที่อาศัยอยู่ในเชียงใหม่นั้น มาจากหลายเผ่าพันธุ์ ทั้งลัวะ มอญ ยวน ม่าน(พม่า) เงี้ยว(ไทยใหญ่) ยอง เขิน และกลุ่มอื่น ๆ ทว่าปัจจุบันอาณาจักรล้านนาถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทย แต่ผู้คนพลเมืองในพื้นที่ดังกล่าวก็ยังเรียกตัวเองอย่างภูมิใจว่า “คนเมือง” นั่นเอง


 
ที่มา : www.chiangmainews.co.th





***********************
บริการจัดทัวร์ 
ทัวร์เชียงตุง ทัวร์เมืองยอง ทัวร์สิบสองปันนา ทัวร์คุนหมิงจีน ทัวร์หลวงพระบาง ทัวร์วังเวียงลาว ทัวร์มัณฑเลย์ ทัวร์พุกาม ทัวร์ทะเลสาบอินเล ทัวร์ตองจี ทัวร์รัฐฉาน

บริษัท เชียงรายมีเดีย แอนด์ ทราเวล จำกัด
เลขที่ใบอนุญาต 21/00833
โทร : 092-891-2277,093-2537733,053-727255
ไลน์ไอดี : @chiangtung
เว๊ปไซค์ : Chiangtungbiz.com
youtube:http://bit.ly/2HDFdMO
 

บทความที่คุณอาจสนใจ

สันนิษฐานว่าวัดน่าจะสร้างขึ้นในยุคต้นของราชวงศ์มังราย จากตำนานได้กล่าวไว้ว่า เมื่อครั้งพญามังรายทรงออกแสวงหาชัยภูมิ

ความเป็นมา ชีวิต กวีเอกแห่งรัตนโกสิน จุดสูงสุด และต่ำสุด

กำแพงและประตูเมืองที่ล้อมรอบเวียงเชียงตุง ชาวเมืองได้ก่อสร้าง? โดยอาศัยความได้เปรียบของภูมิประเทศ ปรับแนวกำแพงให้แข็งแกร่งไปตามสภาพธรรมชาติ

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ริมฝั่งเจ้าพระยา มีคนจมน้ำสังเวยบ่อยครั้ง จนต้องสร้างศาลถวาย !!!

-เมืองลากับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ และประชาคมอาเซียน

บริษัท ไชยนารายณ์ โกลเบิ้ล จำกัด

66 หมู่1 ถนนโชคชัย4 แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพ 10320

Tel ซื้อสินค้า : 063 5599 896

Tel ซื้อสินค้า : 092 891 2277

Tel ท่องเที่ยว :

Line ซื้อสินค้า : @chainarai

Line ท่องเที่ยว : @chainarai

Email : chainarai456@gmail.com

แผนที่

เพจ สิบสองปันนา หลวงพระบาง

เพจ เชียงตุง อยู่ดีกินหวาน