วังจ้าวมอญในกำแพงพระนครรัตนโกสินทร์

03 สิงหาคม 2018, 15:42:25

ย้อนไปราวต้นปี 2300 พื้นที่ เลียบชายฝั่งแม่นํ้าเจ้าพระยา ตั้งแต่ถนนพระอาทิตย์ต่อเนื่อง ไปจนถึงบางลำพูคือที่ของเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง คชเสนี) เสนาบดีผู้สืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์มอญและได้มีโอกาสรับใช้เบื้องพระยุคลบาทตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ นอกจากนั้นพื้นที่บริเวณนี้ยังเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวมอญที่อพยพย้ายถิ่นฐานอันเป็นไปตามแบบแผนการรบและการถ่ายโอนของประชากรยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย


“วังกรมพระนเรศรวรฤทธิ์” หรือที่คนทั่วไปรู้จักกันในชื่อ “บ้านมะลิวัลย์” อวดโฉมอย่างสง่างามข้ามกาลเวลานับร้อยปีจนถึงปัจจุบัน ในอดีตที่นี่คือวังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ (ต้นราชสกุล “กฤดากร”) พระราชโอรสลำดับที่ 8 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 กับเจ้าจอมมารดากลิ่น เหลนของเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง คชเสนี) ซึ่งที่ตั้งของ “วังกรมพระนเรศรวรฤทธิ์” ในปัจจุบันคือบริเวณที่เป็นบ้านเดิมของเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ คชเสนี) ผู้ดำรงฐานานุศักดิ์เป็นปู่ของเจ้าจอมมารดากลิ่น


อาคารสีเหลืองไข่ไก่รูปแบบสถาปัตยกรรม สไตล์ยุโรปผสมขอม ซึ่งได้รับการออกแบบโดย มร.เออโคล มันเฟรดี สถาปนิกชาวอิตาเลียนนี้คือตำหนักหลังใหม่ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างพระราชทานแด่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ ในโอกาสที่ทรงเจริญพระชันษาครบ 5 รอบ แทนตำหนักเดิมซึ่งอยู่บริเวณไม่ไกลกันมากนักโดยใช้เวลาการก่อสร้างทั้งหมดราว 7 ปี คือตั้งแต่ปี 2454 - 2460 หลังก่อสร้างแล้วเสร็จเพียง 8 ปี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ ก็สิ้นพระชนม์


100 ปีนับจากนั้นเป็นต้นมาตำหนักแห่งนี้คือส่วนหนึ่งของการบันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในฐานะความทรงจำ แห่งยุคสมัย เริ่มตั้งแต่
ยุคที่ 1 ในฐานะวังกรมพระนเรศรวรฤทธิ์ จุดรวมของชาวมอญซึ่งเจ้าจอมมารดากลิ่นได้นำชาวมอญจากที่ต่างๆ เข้ามาชุบเลี้ยงในวังแห่งนี้ ทำให้ทั้งอาหาร เครื่องแต่งกาย การพูดจาในวังนี้เต็มไปด้วยกลิ่นอายของชาวมอญ จนได้ชื่อว่าเป็น “วังจ้าวมอญในกำแพงพระนครรัตนโกสินทร์”


ยุคที่ 2 ในฐานะศูนย์บัญชาการเสรีไทย (ปี 2469 - 2488) ที่นี่มิเพียงถูกใช้เป็นบ้านพัก ของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 กรมหมื่นอนุวัตร จาตุรนต์ แต่ยังเป็นโรงเรียนสืบราชการลับ รวมถึงห้องใต้หลังคาอันเป็นที่กล่าวขานว่าคือศูนย์บัญชาการงานใต้ดิน (เสรีไทย) ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2


ยุคที่ 3 การบริหารอาคารโดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และการขอเช่าจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อใช้เป็นที่ทำการขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations หรือ FAO) ตั้งแต่ปี 2490 ถึงปัจจุบัน


 

ความทรุดโทรมสู่การค้นพบ
คุณกิตติศักดิ์ อัครโพธิวงศ์ เจ้าหน้าที่บริหารโครงการ ฝ่ายบริหารงานอนุรักษ์ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เล่าให้เราฟังว่า โดยปกติแล้วอาคารต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครจะมีการทรุดตัวประมาณปีละ 2-3 เซนติเมตร แต่ปัญหาที่เกิดกับวังกรมพระนเรศรวรฤทธิ์ คือการทรุดเอียงเนื่องจากส่วนหนึ่งของอาคารสร้างทับป้อมอิสินธร ทำให้ส่วนบริเวณนั้นมีความหนืดของดินมากกว่า เป็นผลให้พบว่าวังกรมพระนเรศรวรฤทธิ์ นอกจากอยู่ในระดับที่ตํ่ากว่าถนนพระอาทิตย์ถึง 90 เซนติเมตรแล้ว ยังมีการลาดเอียงถึง 20-30 องศา และบริเวณที่ถือเป็นจุดหักมุมแยกพื้นที่การลาดเอียงของอาคารก็คือจุดเชื่อมของห้องท้องพระโรงซึ่งถูกปรับใช้เป็นห้องสมุดของ FAO และส่วนตำหนัก ซึ่งปัจจุบันถูกปรับใช้เป็นส่วนสำนักงาน


คุณจิตติวัฒน์ ครุฑสาคร สถาปนิกบริษัท กุฎาคาร จำกัด บริษัทผู้ออกแบบและเป็น ที่ปรึกษาควบคุมการบูรณะวังกรมพระนเรศรวรฤทธิ์ กล่าวว่า ฐานรากอาคารวังกรมพระนเรศรวรฤทธิ์ และตัวอาคารเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการก่อสร้างที่ทันสมัยมากในยุคนั้น นับเป็นอาคารแรกๆ ในประเทศไทยที่มีการใช้แท่งคอนกรีตหนา 40 เซนติเมตร สูงจากพื้นที่ 1 เมตร ลักษณะคล้ายตอม่อรับนํ้าหนักโครงสร้างอาคาร ผนวกกับการคำนึงถึงความชื้นของตัวอาคารทำให้ผนังอาคารรวมถึงลวดลายประดับต่างๆ มีความพิเศษคือ มีการก่อสร้างผนังสองชั้นเพื่อใช้ในการระบายความชื้นและระบายอากาศ


รายละเอียดของโครงสร้างที่งดงามปรากฏสู่สายตาแม้อยู่ในช่วงของการบูรณะอาคารที่ดำเนินการไปแล้วมากกว่า 50% สู่ปฐมบทของการค้นพบความงามที่ซ่อนอยู่ในทุกตารางนิ้ว ท้องพระโรงสูงซึ่งอดีตคือพื้นที่ว่าราชการ และพื้นที่จัดแสดงละครต่างๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเคยเสด็จฯ มาชมการแสดงละครนอก ณ วังแห่งนี้เช่นเดียวกัน ความโอ่อ่าของบริเวณมาจากการออกแบบพื้นที่ให้สูงโปร่งกินพื้นที่ถึงชั้น 2 ของตัวอาคาร สุดอลังการด้วยซุ้มเพดานเรียงยาวเป็นเส้นเดียวกันตามแนวเสา ฝ้าเพดานเป็นคอนกรีตปั๊มลายสำเร็จนำเข้ามาจากต่างประเทศ รวมถึงการตกแต่งบริเวณหัวเสาต่างๆ ยังมีลายเปลือกหอย และลายดอกไม้ตามแบบศิลปกรรมขอม ซึ่งคาดการณ์ว่ามาจากการที่กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ทรงมีโอกาสตามเสด็จฯ ไปเยือนเขมรนั่นเอง


คุณกิตติศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่าผนังภายในสีเหลืองที่ปรากฏก่อนการบูรณะถูกทาขึ้นในยุคการปกครองของคณะราษฎร คาดว่าเพื่อกลบลายภาพเขียนภายในวังฯ การหลุดล่อนของสีในบางจุดทำให้เราพบว่าที่นี่มีการทาและลงลวดลายในแต่ละห้องแทบไม่ซํ้ากันแยกตามรูปแบบการใช้งาน


ภายนอกซึ่งเป็นอาคารสีเหลืองอ่อนประดับลวดลายคนโทและดอกไม้ตามความเชื่อเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของคนจีน ภายในตัวอาคารแบ่งเป็นการทาสีต่างๆ อีกถึง 6 สี คือสีแดงซึ่งเป็นสีพื้น สีฟ้า สีนํ้าเงิน สีเขียว สีนํ้าตาล และสีเทา ไม่รวมลายเขียนสีซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละห้อง อาทิ ห้องรับประทานอาหารปรากฏลายเขียนภาพสาหร่าย ห้องนั่งเล่นปรากฏลายเครือเถาองุ่น ห้องนํ้าปรากฏลายกุ้งและลายปลา และห้องสำคัญอย่างห้องทอดพระเนตรบริเวณใจกลางชั้น 2 ปรากฏภาพเขียนสีลายดอกทิวลิปและดอกบัว รวมถึงค้นพบลายภาพเขียนสีศิลปะแบบ Art Nouveau อีกด้วย

การค้นพบภาพเขียนสีในจุดต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้องที่เชื่อว่าเป็นห้องพระและเป็นห้องเก็บพระโกศทรงพระอัฐิของกรมพระนเรศรวรฤทธิ์ และเจ้าจอมมารดากลิ่น ที่ปรากฏลวดลายอ่อนช้อยงดงามไม่สามารถประเมินมูลค่าได้ อย่างไรก็ดี การบูรณะภาพเขียนต่างๆ จำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก เราคงหวังแต่เพียงว่าจะมีหนทางใดไม่ก็หนทางหนึ่งที่จะช่วยชุบชีวิตภาพเขียนเหล่านี้ให้กลับมาดังเดิมอีกครั้ง

เพราะ “สถาปัตยกรรม” ไม่เพียงนำเสนอความงามแห่งยุคสมัยแต่ยังเป็นหลักฐานทางวัฒนธรรมที่แสดงออกถึงความรุ่งเรืองของชาติที่เล่าเรื่องราวผ่านการก่อสร้างและการเปลี่ยนแปลงในทุกองค์ประกอบ “งานอนุรักษ์” อาคารโบราณจึงเปรียบได้กับการสร้างความแข็งแกร่งของชนชาติผ่านการธำรงรักษาสถาปัตยกรรมของชาติให้สามารถปรับเปลี่ยนไปตามการเติบโตของสังคมที่ไม่มีจุดสิ้นสุด เพื่อสร้างอาคารที่มีชีวิตให้คงอยู่ชั่วลูกหลานสืบไป

หลังการบูรณะวังกรมพระนเรศรวรฤทธิ์แล้วเสร็จ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กำหนดแนวทางให้ส่วนหนึ่งของอาคารจัดแสดงนิทรรศการเรื่องป้อมอิสินธรที่ถูกรื้อถอน และประวัติการก่อสร้างวังกรมพระนเรศรวรฤทธิ์ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบและเข้าถึงหนึ่งในอาคารอนุรักษ์ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทุกคนอย่างละเอียด และคงอีกไม่ช้านานที่ “วังกรมพระนเรศรวรฤทธิ์” จะพร้อมอวดโฉมสู่สายตาเราอีกครั้ง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,289 วันที่ 20 - 23 สิงหาคม พ.ศ. 2560

****************************************************************************
บริการจัดทัวร์ 
เชียงตุง เมืองยอง สิบสองปันนา คุนหมิงจีน หลวงพระบาง วังเวียงลาว มัณฑเลย์ พุกาม ทะเลสาบอินเล ตองจีรัฐฉาน

บริษัท เชียงตุงเรียลเอสเตท แอนด์ ทราเวล จำกัด
เลขที่ใบอนุญาต 21/00833
โทร : 092-891-2277,093-2537733,053-727255
ไลน์ไอดี : @chiangtung
เว๊ปไซค์ : Chiangtungbiz.com
youtube:http://bit.ly/2HDFdMO
 

บทความที่คุณอาจสนใจ

เจ้าขุนสามหลวงยกทัพไปตีเวสาลี

เรื่องผีสาง และความเชื่ออยู่คู่ไทยและล้านนาแต่นาน ราวปี พ.ศ. 2549-2550 มีข่าวทั้งทีวีและหนังสือพิมพ์หลายฉบับลงข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์ประหลาดที่บ้านหลังหนึ่งที่เป็นร้านอาหารแถวๆอ้าเภอฮอดถึงจอมทองอยู่ๆก็มีขวดน้้าเปล่ากระเด็นลอยมาจากห้องครัว บางครั้งมีแขกกำลังรับประทานอาหารอยู่กลับมีขวดน้ำตกลงจากโต๊ะ เผลอๆหากเจ้าของไม่อยู่กลับเอาข้าวของในตู้เย็นตกเกลื่อนกลาด ท้าให้เป็นข่าวกันไปทั้งเมือง ที่จริงเหตุการณ์ท้านองนี้มีมานานแล้วเพียงแต่คนโบราณเรียกกันว่า เฮือนผีขว้าง

หนองตุง แหล่งน้ำขนาดใหญ่ใจกลางเมืองเชียงตุง

วัดหนองหลวงกำลังเจริญรุด การที่วัดมีรายได้จากเครื่องราง และสังฆะทรงเวทย์ จึงนำมาซึ่งรายได้ พอมีรายได้ก็สร้าง คณะศรัทธาสร้างและสังฆะปรารถนา เราหวั่นว่า ภาพเก่าภาพหลังจะเปลี่ยนไป นี่ก็กำลังเปลี่ยน ร้านขายสังฆภัณฑ์รกๆ ขยะเยอะๆ เริ่มก่อตัว เพราะว่าวัดนี้ คนขึ้นมาก ในบ้านเรา วัดไหนดัง วัดนั้นจะเยอะเป็นพิเศษ

บริษัท ไชยนารายณ์ โกลเบิ้ล จำกัด

66 หมู่1 ถนนโชคชัย4 แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพ 10320

Tel ซื้อสินค้า : 063 5599 896

Tel ซื้อสินค้า : 092 891 2277

Tel ท่องเที่ยว :

Line ซื้อสินค้า : @chainarai

Line ท่องเที่ยว : @chainarai

Email : chainarai456@gmail.com

แผนที่

เพจ สิบสองปันนา หลวงพระบาง

เพจ เชียงตุง อยู่ดีกินหวาน