เจ้านางสุคันธา

08 มีนาคม 2018, 10:15:46

เจ้านางสุคันธา
สายใยรัก สองแผ่นดิน.....

 

     เจ้านาง สุคันธา ณ เชียงตุง เป็น พระธิดาในเจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง เจ้าฟ้าหลวงนครเชียงตุง องค์ที่ 40 ประสูติแต่เจ้าบัวทิพย์หลวง มเหสีพระองค์หนึ่ง เจ้าสุคันธา ได้เสกสมรสกับ เจ้าอินทนนท์ ณ เชียงใหม่ ราชบุตรใน เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้าย เจ้าสุคันธาเปรียบประดุจ สายสัมพันธ์ สองราชวงศ์ ระหว่าง เชียงตุง-เชียงใหม่

      หญิงชราร่างเล็กในชุด เสื้อลูกไม้คอจีนแขนกระบอกสีขาวสะอาดและ ผ้าซิ่นยาวกรอมเท้าสีน้ำตาลเข้ม นั่งสงบนิ่งอยู่บนเก้าอี้ยาว มือเหี่ยวย่นขยับขึ้นลงตามตัวอักขระ ภาษาเขินเป็นชื่อของตนเอง จากนั้นจึงขานไขถึง วันเก่าๆด้วยน้ำเสียงเนิบช้า หางเสียงที่เล่าพริ้วสั่นนิดๆ ด้วย กรังสนิมแห่งกาลเวลาหากแต่ดวงตาคู่นั้นเอง ที่ส่องประกายสุกใส เจิดจ้าควบคู่ไปกับรอยยิ้ม ที่แต่งแต้มบนใบหน้า" ฉันอายุเกือบร้อยแล้ว " คือคำกล่าวที่เจ้านางเชียงตุงมักย้ำเสมอ คล้ายจะประกาศถึงหนทางอันยาวนาน อันล่วงผ่าน ตั้งแต่ครั้งที่นครเชียงตุง เป็น เมืองใหญ่อันดับหนึ่งแห่งรัฐฉาน จวบจนกระทั่งมรสุมทางการเมือง ที่โหมกระหน่ำเป็นเหตุให้ ราชวงศ์เชียงตุงต้อง แตกสลาย

       สมัยนั้นเชียงตุงมีเมืองบริวารเป็นเมืองเล็กๆ ประมาณยี่สิบกว่าเมือง เมืองใหญ่ๆอีกสิบเก้าเมือง ชายแดนด้านหนึ่งติดกับแม่น้ำสาละวิน ด้านหนึ่งติดกับแม่สาย ด้านหนึ่งติดกับแม่น้ำโขง สมัยที่เจ้าพ่อ (เจ้าแก้วอินแถลง)ยังอยู่ ชีวิตก็สบายดี ฉันไม่ได้ไปเรียนที่เมืองนอกหรอก เพราะว่าเป็นผู้หญิงส่วนผู้ชายส่งไปที่อังกฤษ หรือไม่ก็ไปเรียนที่ต่องยี ซึ่งเป็นเมืองที่เจ้าผู้ครองนครไปประชุมกันทุกปี และเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยภูเขาสูง เลยทำให้อากาศหนาวมาก เมืองนี้ยังเป็นที่ตั้งของ รัฐบาลอังกฤษ ในสมัยนั้น เจ้าฟ้าของแต่ละเมือง จะทรงสร้างบ้านไว้องค์ละหลัง เพื่อเป็นที่พักเวลาประชุมที่นั่น จำได้ว่าเวลามีประชุมที่นั่น เจ้าพ่อต้องออกงานเลี้ยงแทบทุกคืน

 
       อากาศที่เชียงตุง พอย่างเข้าหน้าหนาว อากาศหนาวจนตัวสั่นเลย ตอนนั้นไฟฟ้าก็ยังไม่มี ต้องคีบถ่านแดงๆใส่เตาดิน คล้ายๆเตาอั้งโล่มาตั้งไว้กลางห้อง แล้วพวกเราพี่น้องก็นั่งวงล้อมคุยกัน ที่เชียงตุง เราใช้ภาษาเขิน เป็นภาษาพูด และ ภาษาพม่าเป็นภาษาเขียน พี่น้องที่เป็นพ่อเดียวแม่เดียวกันมีทั้งหมด ห้าคน แม่ของฉัน เป็นลูกข้าราชการในเชียงตุง ส่วนยายฉันเป็น ลูกพระยาแขก ก็เพราะว่าท่านจะคอยทำหน้าที่ เป็นผู้นำเจ้าฟ้าเมืองต่างๆ เข้าถวายคำนับเจ้าพ่อ เจ้าพ่อท่านจ้างครูไทย สองคนมาอยู่ที่คุ้ม ชื่อ แม่ครูแจ่ม กับ แม่ครุบุญชุบ เป็นครูไทยที่มาจากเชียงใหม่นี่แหละ ให้คอยหัดละครไทย ให้ใครก็ได้ที่อยากจะเรียน

      สมัยนั้นตั้งเป็นวงละครไทยเลยนะ เพราะคนไปหัดกันมากเต็มที ส่วนละครพม่านั้นมีอีกวงหนึ่ง สอนโดยคนพม่าอีกเหมือนกัน  แต่ละครพม่านั้นมีในเชียงตุงมานานแล้ว เวลาในคุ้มมีงานอะไรสำคัญจะเล่นละครพม่า
ตอนที่ฉันอายุได้หกขวบเจ้าพ่อจ้างครูมาสอนพิเศษ ภาษาเชียงตุง
ให้พวกพี่ๆด้วย ความเป็นเด็ก ฉันเลยเข้าไปนั่งเรียนร่วมกับเขาด้วย
ทำให้รู้ภาษาเชียงตุงก่อนเข้าโรงเรียน
พออายุได้เก้าขวบก็เข้าโรงเรียนกินนอนที่โรงเรียนมาแมร์
ซึ่งเป็นโรงเรียนแม่ชี ที่สอนโดยมาแมร์จากอิตาลี
เด็กในเชียงตุงทุกคน ต้องเรียนสองภาษาคือ ภาษาพม่า และ ภาษาอังกฤษ

สมัยนั้นมีโรงเรียนอยู่สองโรงเรียน โรงเรียนหนึ่งคือ
โรงเรียนแม่ชี ส่วนอีกโรงเรียนหนึ่งคือ โรงเรียนบาทหลวง
ฉันต้องไปกินนอนอยู่ที่นั่น ตั้งหลายปี จนกระทั่งเรียนจบชั้นหก .
เพื่อนรุ่นเดียวกันกับฉันสมัยนั้นเป็นลูกสาวเจ้าเมืองย๊อง
ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของเชียงตุงญาติทางเจ้าพ่อชื่อว่า เจ้าเทพธิดา
เรากินนอนอยู่โรงเรียนเดียวกัน

สมัยนั้นลูกของเจ้าพ่อที่ไปอยู่โรงเรียนเดียวกันมีสามคน
คนใช้อีกสองคน และ เจ้าเทพธิดาอีกหนึ่งคน นอนห้องเดียวกัน

สมัยก่อน การคัดเลือกเด็กที่จะเอามาเป็นคนใช้เจ้านายนั้น
เขาจะไม่เลือกจากเด็กที่เป็นลูกขุนนาง
แต่เลือกจากลูกของคนชั้นธรรมดา พวก " นาง " หรือ " ชาย "
ในเชียงตุงมีคำเรียกคนตามชนชั้นต่างๆกัน
อย่างคำว่า " อุ๊นาง " หมายถึงลูกสาวพระยา "อุ๊ไจ๊" หมายถึงลูกชายพระยา
มาตอนหลังถึงไม่เรียก " อุ๊ " กันแล้วเพราะไม่เหลือคนที่มียศ
ตำแหน่งถึงขั้น " อุ๊ " เหลือแต่ นาง กับ ชาย เฉยๆ ขั้นต่ำลงมา จะเป็นไอ้ กับ อี.
ฉันเรียนจบอายุได้สิบกว่าปี เจ้าพ่อให้เป็นเลขาฯของท่าน
คอยรับใช้ท่านสลับกับพี่สาวอีกสองคน

เจ้าบัวสวรรค์ และ เจ้าทิพเกสร
ผลัดกันทำงานคนละวัน สมัยนั้นเจ้าพ่อมีไร่กาแฟด้วย
ฉันต้องทำหน้าที่เป็นคนคอยทำบัญชีว่าไร่แห่งนี้

สมัยชีวิตสาวๆของฉันสนุกมากกลางวันก็เล่นเทนนิส
เนื่องจากเจ้าพ่อทรงดำริให้ สร้างสนามขึ้นในคุ้ม
บางครั้งก็มีภรรยาหมอฝรั่งและภรรยาข้าหลวงมาร่วมเล่นด้วย
ส่วนคนอื่นๆ ในเวียงที่สามารถมาเล่นเทนนิสได้จะต้อง
เป็นพวกลูกสาวขุนนาง เพราะเจ้าพ่อไม่อนุญาติ
ให้ผู้ชายเข้ามาภายในคุ้ม แต่ฉันเล่นไม่ค่อยเก่งเท่าไหร่
ฉันกับน้องๆ ชอบขับรถยนต์ไปเที่ยวตามในเวียง





 


สมัยนั้นไม่มีใครในเชียงตุงมีรถยนต์ นอกจากเจ้าพ่อ ซึ่งมีอยู่ สองสามคัน
รวมทั้งพี่ชายใหญ่ และ เจ้าพรมลือ เวลาเราไปไหนด้วยรถยนต์
จึงสะดวกสบาย แต่เนื่องจากพื้นทีในเวียงเป็นที่ดอน
ไม่เสมอกัน มีเนินสูงต่ำอยู่มากมาย
เวลาขับรถยนต์จะต้องขับขึ้นลงเนิน
บางทีขับไปแล้วเครื่องดับตอนนั้นยังใช้ระบบเก่าอยู่
เป็นแท่งเหล็กหมุนเพื่อสตาร์ทเครื่องอยู่ มีบางครั้งที่เราหมุนไม่ไหว
ก็จะให้น้องสองคนที่ไปด้วยกันช่วยเข็นรถไปบนยอดเนิน
แล้วผลักรถลงมาเพื่อให้สตาร์ได้ง่ายขึ้น
เนื้อที่ของคุ้มเชียงตุง กว้างประมาณสิบกว่าไร่
ภายในนั้นนอกจากตำหนักของเจ้าพ่อ และ ตำหนักของเจ้าย่าแล้ว
เจ้าพ่อยังสร้างบ้านไว้หลังหนึ่ง
สำหรับเจ้านางของเจ้าพ่อ คลอดลูกเนื่องจากเมื่อก่อน
ลูกๆทุกคนของเจ้าพ่อคลอด บนตึกใหญ่หรือตำหนักของเจ้าพ่อ
แต่ท่านมีลูกหลายคน ภายหลังจึงสร้างอีกหลังหนึ่ง
สำหรับเป็นที่คลอดโดยเฉพาะ

ตำหนักของเจ้าพ่อเป็นตึกสามชั้นแบบแขก ชั้นบนสุดเป็นที่ไว้หิ้งพระ
นอกนั้นเป็นที่ว่างเพราะไม่มีใครขึ้นไปอยู่ พวกเราเด็กๆเลยชอบขึ้นไปเล่นกัน
ข้างบนนั้น มีอยู่วันหนึ่ง พี่ชายใหญ่ (เจ้าฟ้ากองไต)
กลับจากศาลากลางมาเห็นเข้า เลยโดนพี่ดุเสียยกใหญ่เลย
บนตำหนักมีห้องถึงเก้าห้อง แต่ละห้องใหญ่โตมาก
แบ่งออกเป็นสามปีกด้วยกัน ปีกซ้ายเป็นห้องของเจ้าพ่อ
ส่วนห้องโถงใหญ่ตรงปีกกลางนั้น เอาไว้สำหรับออกขุนนางเวลามีงานใหญ่งานโต
ถัดไปทางด้านหลังอีกห้องหนึ่งเป็นห้องคลัง สำหรับเก็บเงินท้องพระคลัง
ฉันยังจำได้ว่า เวลาที่พวกพนักงานเทเงินออกมานับ
บางทีเราโชคดีเราเล่นกันอยู่ข้างล่าง
จะมีเงินไหลลอดออกมาจากพื้นข้างบน ได้มาครั้งละแถบๆ

นอกจากนี้ยังมีห้องถัดไป ทางหลังตึกอีกหนึ่งห้อง
เป็นห้องของมหาเทวี ปีกขวาเป็นห้องของเจ้าจอมอีกสามห้อง
และ ห้องมหาดเล็กอีกหนึ่งห้อง ส่วนชั้นล่าง
ที่ส่วนหนึ่งแบ่งไว้สำหรับต้อนรับเวลามีงานปีใหม่
หรือจะจัดงานเลี้ยงพวกเจ้าเมือง ที่ขึ้นกับเมืองเชียงตุงเ
มื่อเข้ามาคารวะ เจ้าพ่อในพิธีคารวะ





 


พิธีนี้จัดขึ้นปีละสองครั้ง ปีใหม่และออกพรรษา
เป็นพิธีที่จัดขึ้นเพื่อแสดงความจงรักภักดี ของเจ้าเมือง ต่างๆในอาณัติของเชียงตุง
พิธีนี้มีอยู่สองวันด้วยกัน วันแรกเรียกว่าวันกิ่นป๋าง
เป็นวันที่เจ้าเมืองทุกคนจะรับประทานอาหาร ร่วมกับเจ้าพ่อ
โดยมีอาหารหลักเป็นพิเศษอยู่ห้าอย่าง คือ
แกงฮังเล น้ำซุปถั่วลันเตา ผักกุ่มดอง แคบหมู กับ น้ำพริกอ่อง และ ข้าวเหนียว
เสร็จจากนั้นวันที่สองถือเป็นวันคารวะ ในวันนี้เจ้าพ่องจะประทับบนแท่นแก้ว
ส่วนพวกเจ้าเมืองจากสามสิบกว่าเมืองจะทยอยกันเข้าไปในห้องพร้อมกับดอกไม้ธูปเทียน
มาวางไว้ตรงหน้าแท่นที่เจ้าพ่อ ประทับคนละขัน ปักเทียนเล่มใหญ่
มาในขันที่ทำจากเงินแท้ หลังจากนั้นเจ้าเมืองจะ " สูมา " หรือไหว้เจ้าพ่อ
เจ้าพ่อให้พรตอบแล้ว
พวกช่างฟ้อนก็มาฟ้อนหางนกยูง ให้พวกแขกบ้านแขกเมืองดู
เป็นอันเสร็จพิธี

........เจ้าพ่อท่านเป็นอุบาสกที่เคร่งครัดมาก
ยึดศีลห้าเป็นหลักประจำใจ สมัยนั้นถือเป็นกฏเลยว่า
ถ้าใครไม่คือศีลห้า ไม่รับเข้าทำงานราชการ
ลูกผู้ชายทุกคนต้องบวชเรียนเมื่อถึงเกณฑ์ จะบวชเณรหรือบวชพระก็ได้
เวลาเด็กคนไหนอายุครบยี่สิบเมื่อไหร่จะต้องจัดงานบวชเณรให้
และถ้าเป็นคน ธรรมดาสามัญ จะให้เณรนั่งแห่ไปบนม้า
ส่วนช้างนั้น เจ้าพ่อเท่านั้นจึงจะมีได้
ท่านมีช้างหลายเชือก เวลาปล่อยช้างออกมาเรียกว่าเต็มลานคุ้มเลย
เจ้าพ่อท่านเชี่ยวชาญมากสามารถปีนข้ามจากช้างเชือกหนึง
ไปอีกเชือกหนึ่งได้ โดยไม่ต้องลงมาที่พื้น
และท่านจะมี " อาเปี่ยวต่อ" หรือ สาวใช้สามสี่คน
คอยนั่งเฝ้ารับใช้ ผู้ชายอีกสี่คนไว้สำหรับให้เจ้าพ่อ เรียกใช้
เรื่องคดีความอะไรในเชียงตุง เจ้าพ่อเป็นผู้ตัดสินเพียงผู้เดียว
ฝรั่งไม่เกี่ยว เพียงแต่มาเป็นที่ปรึกษาเท่านั้น สมัยนั้น
ข้าหลวง รองข้าหลวง หมอ และนานทหารอังกฤษ
จะมาพักกันที่ดอยเหมย พวกอังกฤษชอบที่นี่มาก
เป็นสถานที่น่าอยู่ เนื่องจากเป็นดอยสูงที่สุด และ สวยที่สุดในเชียงตุง

เคยมีอยู่ครั้งหนึ่ง ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ฝรั่งกำลังล่าเมืองขึ้น
แคว้นสิบสองปันนา ซึ่งเป็นพวก ไทยลื้อ ได้ถูกแบ่งออกเป็นสามส่วน
และถูกครอบครองโดยคนสามชาติด้วยกัน
เมืองย็อง เมืองแฮ่ เมืองขัน เมืองลื้อ เมืองหลุย ขึ้นกับอังกฤษ
แต่ยกให้ เชียงตุง ปกครอง
เมืองเชียงรุ่ง เมืองน้า เมืองลา เมืองหัน นั้นขึ้นกับจีน
ส่วนเมืองที่เหลือ ตกเป็นของ ฝรั่งเศส
ต่อมาเมืองทั้งห้าเมือง ที่เชียงตุงปกครองโดยเชียงตุง
เกิดไม่พอใจขึ้นมา ต้องการที่จะขึ้นกับอังกฤษ โดยตรง
ไม่อยากถูกปกครองโดยเชียงตุงอีกต่อไป คิดตั้งตัวเป็นกบฏ
เจ้าฟ้ากองไตย พี่ชายของฉัน ซึ่งเป็นอุปราชเมืองเชียงตุงในสมัยนั้น
จึงขอประทานอนุญาตจากเจ้าพ่อไปสืบราชการที่เมืองย็อง
จากนั้นท่านก็จัดการแต่งตัวเป็นฝรั่ง
เดินทางไปกับคณะข้าหลวงของอังกฤษ
โดยไม่มีใครในเมือง ทราบเลยว่าท่านคือ อุปราช
ระหว่างที่พวกเจ้านาย และ ข้าราชการเมืองย็อง
เข้าหารือ กับ ข้าหลวงอังกฤษเรื่อง ขอขึ้นตรงกับอังกฤษ
วันนั้นเองที่พี่ชายฉัน สั่งจับกบฏเมืองย็อง ได้ทั้งกลุ่ม
ภายหลังกบฏกลุ่มนี้ ได้ถูกส่งไปติดคุกที่ เมืองตองกี
จำได้ว่าสมัยก่อนที่เจ้าพ่อปกครอง โทษประหารของเชียงตุง คือ
การตัดหัวและแขวนคอ แต่เนื่องจาก
เจ้าพ่อถือศีลเลยลดโทษประหาร ซึ่งเป็นโทษหนักที่สุดเหลือเพียง
ติดคุกนานเพียงสิบปี สำหรับคดีฆ่าคนตาย




.........ที่เชียงตุง แต่ละปีจะมีงานอยู่สอง ครั้ง
งานหนึ่งคืองานที่โป่งน้ำร้อน ห่างจากเวียงมาก ประมาณสิบกว่ากิโลเมตร
ที่นั่นจะมีบ่อน้ำร้อนอยุ่สามบ่อ แต่ละบ่อกว้างเท่าห้องห้องหนึ่ง
ขนาดใหญ่กว่าบ่อน้ำร้อนที่เชียงใหม่
เวลาที่น้ำเดือดแต่ละครั้งฟองอากาศจะกระเด็นสูงขึ้นไปเป็นเมตร
แล้วไปตกลงใน ร่องที่เขาทำรองไว้
นอกจากนั้นเขายังทำร่องไว้อีกร่องหนึ่ง เป็นร่องน้ำเย็นที่รองมาจากบ่อน้ำอีก
แห่งหนึ่งต่อลงมายังที่อาบน้ำที่ทำเอาไว้
ซึ่งหางจากบ่อน้ำร้อนประมาณกิโลเมตรหนึ่งได้
แล้วน้ำร้อนกับน้ำเย็นก็จะมาผสมกันพอดี
เจ้าพ่อโปรดให้สร้างห้องอาบน้ำสำหรับข้าราชบริพาร สามห้อง
สำหรับเจ้าพ่อหนึ่งห้อง สำหรับพวกเราผู้หญิงหนึ่งห้อง สำหรับราษฎรอีกหนึ่งห้อง
ห้องอาบน้ำไม่ได้ทำแบบหรูหราอะไรเพียงแต่ใช้ฟากไม้ไผ่
มาทำเป็นฝากั้นพลับพลา ภายในนั้นทำเป็นบ่อน้ำขนาดใหญ่ลึกแค่เอว
ใครมีชุดอาบน้ำก็ใส่รวมกันเป็นงานหน้าหนาวที่ใหญ่โต
และมีการละเล่นสนุกๆหลายอย่าง พอตกกลางคืน
มีหนังมีละครตอนกลางวันมีซอ บางปียาวนานถึงเจ็ดวันบางปีก็ห้าวัน
พอถึงเดือนห้าจะมีงานบอกไฟ ในงานนี้แต่ละหมู่บ้าน
จะแข่งกันทำบอกไฟแล้วนำมา จุดแข่งกันในวันนั้น
บอกไฟของบ้านไหนที่ขึ้นได้สูงสุดจะได้รับเงินรางวัลจากเจ้าพ่อ
เป็นเงินแผ่นรูปกังสดาล เจาะรูตรงกลาง ร้อยด้าย ทำเป็นพวงคล้องคอผู้ชนะ
งานปีใหม่สงกรานต์ที่นั่น ก็เป็นงานรื่นเริงประจำปี อีกงานหนึ่งของเชียงตุง วันที่ 13 เมษายน
เรียกว่าวันสังขารล่อง วันนี้พวกชาวบ้านจะเลือกผู้ชาย
มาแต่งตัวด้วยผ้าสีแดง เอามะละกอสองลูก ผูกเชือกห้อยคอ
ทำอะไรก็ได้ให้น่าเกลียด(หัวเราะ) แล้วสมมุติให้เป็นตัวสงกรานต์
จากนั้นจะนำตัวสงกรานต์แห่ไปตามถนน
เพื่อไปทิ้งในแม่น้ำเขิน ที่อยู่นอกเมืองเรียกว่าการไล่สงกรานต์
ถือเป็นการขับไล่โชคร้ายออกไปหรือสิ่งไม่ดีออกไป
วันรุ่งขึ้นเรียกว่าวันเนา ชาวบ้านทุกคนจะร่วมกันขนทรายจากแม่น้ำเขิน
และแม่ น้ำลาภ ซึ่งอยู่ไกลเวียงออกไปมาที่วัด
เพื่อเตรียมไวสำหรับก่อเป็นเจดีย์ทรายในวัน รุ่งขึ้น
ในระหว่างนี้ในคุ้มจะจัดพิธีคารวะขึ้น วันสุดท้ายเรียกว่า วันปีใหม่
หรือวันพญาวัน ทุกคนจะแต่งตัวสวยงามแล้วจึงพากันไปทำบุญ และ ก่อเจดีย์ทรายที่วัด
วัดประจำของเจ้านายมีอยู่สามวัดคือ วัดหัวข่วง วัดพระแก้ว วัดเชียงอินทร์
เป็นธรรมเนียมเลยว่าทางคุ้มจะต้องส่งข้าวไปที่วัดเหล่านี้ทุกวัน

เจ้านางสุคันธา
ได้เสกสมรสกับเจ้าชายแห่งราชสำนักเชียงใหม่
คือ เจ้าอินทนนท์ ณ เชียงใหม่
ราชบุตรพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ
เจ้าหลวงเชียงใหม่ ณ หอคำเชียงตุง
โดยมีเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินทแถลงเจ้าหอคำ
เจ้านางปทุมมหาเทวีเป็นเจ้าภาพเมื่อ พ.ศ. 2476
มีร้อยเอกโรแบรด์ ข้าหลวงอังกฤษผู้กำกับราชการนครเชียงตุง
ร่วมเป็นเกียรติในงานมงคลสมรส
เจ้านางสุคันธาและเจ้าอินทนนท์ ณ เชียงใหม่
จึงเป็นสายใยแห่งความรักของราชสำนักเชียงใหม่-เชียงตุง รุ่นราชโอรส ราชธิดา
"เจ้าหลวง" สองราชสำนักรุ่นสุดท้าย

.............ฉัน พบ กับเจ้าอินทนนท์ ณ เชียงใหม่
ตอนอายุยี่สิบสองปีเท่ากัน แต่ฉันแก่กว่าเจ้านนท์สิบกว่าวัน
เจ้าแว่นแก้ว พี่สาวของฉัน มีคนมาสู่ขอเมื่ออายุสิบหก
เลยถูกเจ้าพ่อบังคับให้แต่งงานนั่งร้องไห้ร้องห่ม
ไม่มีโอกาสได้รู้จักกับชาย คนอื่นเลยต้องโดนจับคลุมถุงชนตั้งแต่เด็ก
ฉันเองไม่เคยรู้จักเจ้านนท์มาก่อน แต่ตอนนั้นจะมีนักสืบ
หรือแม่สื่อเป็นคนสืบให้ว่าคนที่มาสู่ขอนั้นมีประวัติ นิสัยใจ
คอเป็นอย่างไร หลังจากหมั้นได้แปดเดือนก็แต่งงาน

       วันพิธีแต่งงานมีเรียกขวัญ ผูกข้อมือ เจ้าพ่อท่านส่งจดหมายไปเชิญเจ้าเมืองต่างๆมาร่วมงานด้วยแต่การเดินทาง สมัยนั้นยังลำบากอยู่ และไม่ใช่งานแต่งของเจ้าฟ้าคนสำคัญอะไร เขาเลยส่งของขวัญมาแทนงานหมั้น ไม่มีพิธีหรอก มีแต่เลี้ยงข้าวและสวมแหวนเท่านั้นเอง ส่วนพิธีแต่งงานมีสองวัน วันแรกเป็นวันผูกข้อมือ จะมีคนออกมาอ่านหนังสือกล่าวขวัญอวยพร ให้กับเจ้าบ่าวเจ้าสาวเสร็จแล้ว แขก ผู้ใหญ่จะเอาด้ายผูกข้อมือ ใครที่เตรียมของขวัญมาก็ให้คู่บ่าวสาวในตอนนั้นวันต่อมาเป็นวันดำหัว

       เจ้าบ่าวเจ้าสาวจะต้องยืนบนแท่นสูงเพื่อให้แขกพรมน้ำอวยพร ฉันจำได้แม่นว่า วันนั้นเจ้านนท์ใส่เสื้อครุยยาว ที่เรียกกันว่าเสื้อคำ ซึ่งเป็นเสื้อเฉพาะของเจ้าฟ้าเชียงตุง ที่ได้รับพระราชทานจากกษัตริย์อังวะ และสวมชฎา ทีแรกท่านสวมชฎา แต่บอกว่าเจ็บ ตอนหลังทนไม่ไหว เลยต้องถอดออกแล้วใช้ผ้าเคียนหัวแบบธรรมดาแทน หลังจากที่คู่สมรสกล่าวเสร็จจึงจะดำหัวเจ้าบ่าวเจ้าสาว จากนั้นจะมีการแห่คู่บ่าวสาวหนึ่งรอบก่อนเสร็จพิธี ถ้าเป็นสมัยก่อนนั้นไปอีกคู่บ่าวสาวต้องนั่งแห่ไปบนหลังช้าง แต่พอมาถึงสมัยฉัน เจ้าสาวกลับนั่งแห่ไปบนรถยนต์ ประดับประดาด้วยดอกไม้ฉันต้องนั่งรถจากตำหนัก เจ้าพรมลือเพื่อไปรับเจ้าบ่าวที่ศาลากลาง แล้วเจ้าบ่าวจะขี่ช้างตามเจ้าสาวไปที่บ้านฉัน ถ้าเป็นงานแต่งระดับเจ้าผู้ครองนคร ต้องมีการเลี้ยงอาหารฝรั่ง เนื่องจากในเชียงตุงมีฝรั่งมาพักอยู่มากเหมือนกัน หลังจากแต่งงานได้สิบกว่าวันก็เดินทางมาเชียงใหม่เลย โดยมีเจ้าฟ้าพรมลือ กับ เจ้านางบุญยงค์ ซึ่งเป็นเจ้าแม่อีกองค์หนึ่งมาส่งท่านมาพักอยู่ด้วยสักห้าวันก็กลับไป
       พอแต่งงานแล้วฉันก็มาอยู่ที่คุ้มใหญ่ของเจ้าหลวง (เจ้าแก้วนวรัตน์) แถวตลาดเจ๊กโอ่ง ท่านทำบ้านไว้หลังหนึ่งให้ลูกสาวคนโตอยู่ ส่วนอีกหลังหนึ่งให้พวกลูกสะใภ้อยู่ อยู่ที่นั้นได้สักพักนึง จนลูกคนที่สามอายุได้สองเดือนกว่า เจ้าหลวงก็สินพระชมน์ หลังจากนั้นพี่สาวคนโตของเจ้าหลวงต้องการคุ้มใหญ่คืน ฉันกับเจ้านนท์และลูกๆก็เลยย้ายมาอยู่ที่เจดีย์เวียง อยู่ได้ปีหนึ่งก็มาซื้อบ้านหลังนี้คุ้มนั้นต่อมาก็ได้ถูกขายไป เมื่อก่อนที่ดินยังราคาถูกมาก จำได้ว่าซื้อบ้านหลังนี้(คุ้มที่ อ.สันป้าตอง) พร้อมที่ดินอีกห้าไร่ ในราคา สองพันบาท
.....ตอนที่เห็นหน้าเจ้านนท์ครั้งแรก ฉันก็รู้สึกเฉยๆ
แต่พอแต่งงานไปแล้วก็ถึงได้รู้ว่าท่านเป็นคนดี ไม่เจ้าชู้
ผู้หญิงเรามีเรื่องสบายใจอยู่อย่างเดียวเท่านั้นคือ
ถ้าสามีเราไม่เจ้าชู้ก็ดี ฉันว่ามันเป็นกรรมเวร
เพราะไม่มีใครได้เคยเห็นหน้าค่าตากันมาก่อน
แต่ต้องมาอยู่ร่วมกัน เจ้านนท์ท่านเคยทำป่าไม้กระยาเลยที่ สันป่าตอง
มีช้างอยู่สามตัว แต่ทำได้ไม่กี่ปีก็เลิกไป ไม่ได้ทำต่อ
แล้วจากนั้นท่านก็ไม่ได้ทำอะไรเลย ท่านเพิ่งเสียไปได้สองปีที่แล้ว
อยุได้แปดสิบเอ็ดปี เรามีลูกด้วยกันห้าคน เป็นชายสามหญิงสองชื่อ
รัตนินดนัย วิไลวรรณ สัมภสมพล ไพฑูรย์ศรี วีรยุทธ ที่ชื่อคล้องจองกัน
ก็เพราะเจ้านนท์ไปขอให้เจ้าคุณวัดเทพศิรินทร์ตั้งชื่อให้ ลูกทุกคน

 

       ช่วงที่รัฐบาลไทยส่งคนไปปกครองเชียงตุง(สหรัฐไทเดิม) ตอนนั้นฉันมีลูกคนที่สามแล้ว พอดีเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ไทยถูกญี่ปุ่นบังคับให้เข้าร่วมสงครามกับฝ่ายอักษะ พอดีช่วงนั้นญุี่ปุ่นได้เข้าครอบครองพม่า ไทยจึงต้องส่งคนไปปกครองเชียงตุงแทนญี่ปุ่น พอสงครามสงบลง ญี่ปุ่นถอยจากพม่าแล้ว ไทยจึงต้องถอยออกจากเชียงตุงด้วย แล้วหลังจากนั้นอีกไม่นานอังกฤษก็ประกาศปลดปล่อย พม่าเป็นเอกราช แต่ก่อนที่จะปลดปล่อย อังกฤษได้ถามความสมัครใจของชาวเชียงตุงว่า ต้องการขึ้น อยู่กับไทยหรือขึ้นอยู่กับพม่า เนื่องจากหมู่ข้าราชการเชียงตุงเห็นว่าระหว่างที่ไทยไปปกครองเชียงตุงนั้น ทหารไทยไปรุงรังกับคนเชียงตุง ถ้าบ้านไหนมีเงินก็ขึ้นปล้นเอาทองคำไป คนเชียงตุงเลยเกลียดชังคนไทยหันไปเลือกขึ้นกับพม่าแทน

       หลังจากที่เจ้าฟ้ากองไตย พี่ชายคนละแม่ของฉัน เป็นโอรสของเจ้าแม่นางฟอง ได้รับการแต่งตั้งจากอังกฤษ ให้เป็นผู้ครองนครเชียงตุงต่อจากเจ้าพ่อได้เพียง เจ็ดเดือน ก็ถูกลอบปลงพระชมน์ มหาเทวีชาวสีป้อต้องหนีไปสิ้นพระชมน์ที่เมืองตองกี พอไทยเข้าครองเชียงตุงในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ได้แต่งตั้งให้เจ้าฟ้าพรมลือ โอรสของมหาเทวี ของเจ้าพ่อ เป็นผู้ครองนคร ต่อมาได้แต่งงานกับเจ้าทิพวรรณ ณ ลำปาง หลานเจ้าหลวงลำปาง ที่ ลำปาง แต่หลังจากที่เชียงตุงเกิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง เจ้าพรหมลือ กับ ครอบครัวจึงได้โยกย้ายมาอยู่เชียงใหม่

      ช่วงเกิดสงครามฉันไม่ได้ข่าวจากทางเชียงตุงเลย มารู้ข่าวว่าเจ้าสายเมือง กับ เจ้าขุนศึก น้องชาย หนีพวกญี่ปุ่น ไปอยู่กับพวก สัมพันธ์มิตรแล้ว ทั้งสองก็พูดออกอากาศทางวิทยุว่า เรามาอยู่ที่นี่สบายดี ด้วยเหตุที่เขาหายไปโดยไม่มีใครรู้เรื่อง แต่เขาต้องออกหนีโดยไม่ให้ญี่ปุ่นรู้ตัว เลยกลัวทุกคนเป็นห่วง ต้องประกาศทางวิทยุแทน พอเราได้ยินเสียงเขาทางวิทยุก็สบายใจ....แต่หลังสงครามยิ่งแย่กว่า...... ตอนนั้นแต่งงานมาอยู่ที่นี่มาหลายปีแล้ว นายพลอูนุ นายกรัฐมนตรีพม่ายุคนั้น รวมทั้งเจ้าฟ้าเมืองต่างๆที่มีอิทธิพลสูง ถูกพวกที่ทำการปฏวัติจับเข้าคุก เจ้าฟ้าหยองห้วย ซึ่งตอนแรกเป็นประธานาธิบดีของพม่า ภายหลังมาสิ้นพระชมน์ในคุก คนที่ไปรับพระศพมาเห็นแต่รอยรองเท้า และ รอยช้ำเต็มพระวรกาย เดี๋ยวนี้ที่นั่น เหลือเพียงน้องชายคนหนึ่ง กับน้องสาวสองคน เจ้าฟ้าที่เป็นผู้ชายต้องย้ายไปเมืองต่องกีหมด เพราะเกรงว่าพวกข้าบ้าน คนเมืองที่ยังจงรักภักดีอยู่จะก่อกบฎ คุ้มที่ฉันเคยอยู่ เดี๋ยวนี้ก็โดนรื้อทิ้งไปแล้ว เขาเล่าว่ามีคนไปดูเวลาที่เขารื้อแล้วไปพูดคัดค้านว่า รื้อทิ้งทำมัย...เสียดาย เลยโดนจับเข้าคุกแบบขังลืมก็มี


 
       ฉันได้เคยกลับไปเยี่ยมเชียงตุงครั้งสุดท้าย เมื่อสาบสิบกว่าปีก่อนตอนที่แม่ตาย แม่ฉันตายเมื่ออายุได้เจ็ดสิบกว่าปี ส่วนเจ้าพ่อสิ้นพระชมน์ เมื่อพระชนมายุได้ประมาณหกสิบพรรษา เนื่องจากสุขภาพไม่แข็งแรง ทั้งโรคหืด และ นิ่ว รวมทั้งได้ยาไม่ดีด้วย

       เมื่อเจ้าฟ้าองค์ใดสิ้นพระชมน์เขาจะไม่เผาศพ แต่ก่อกู่เป็นฐานปูนทรงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่เจาะช่องตรงกลาง สลักเสลาลวดลายสวยงาม จากนั้นจึงนำพระศพบรรจุไว้ในกู่ ปิดให้สนิท แล้วเอาปราสาทที่ทำด้วยกระดาษมาครอบไว้บนกู่ เมื่อเสร็จพิธีแล้วสัปเหร่อ จะเป็นคนมาเผาปราสาทนั้น ที่กู่จะจารึกชื่อไว้ว่าทีเจ้าฟ้าองค์ใดบ้าง ถ้าหากว่า มหาเทวี หรือ พระโอรสธิดาสิ้นพระชมน์ จะแยกศพไว้ต่างหาก เพื่อบรรจุไว้ในกู่อีกแห่งหนึ่ง โดยเรียกอีกอย่างหนึ่งว่ากุดสุสาน ในเชียงตุงจึงมีหลายแห่ง สุสานสำหรับเจ้านายแห่งหนึ่ง สำหรับคนธรรมดาแห่งหนึ่ง มีสุสานในเชียงตุงห้าแห่งเท่านั้นเอง

      เจ้าสุคันธา ณ เชียงใหม่ เมื่อสัมภาษณ์ นิตยสาร แพรว และ เล่าเรื่องในอดีต ไว้อย่างละเอียด เมื่อราวยี่สิบกว่าปีก่อน (ท่านสิ้นชีวิตแล้วเมื่อ พ.ศ. 2546)

      เจ้านางสุคันธา ณ เชียงตุง ประสูติเมื่อพ.ศ. 2456 โดยเป็นพระธิดาแห่งเจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง เจ้าหอคำเชียงตุง กับเจ้านางทิพย์หลวง หรือเจ้านางบัวทิพย์หลวง ในหอหลวงเมืองเชียงตุง โดยเจ้านางเรียกเจ้าพ่อว่า "ฟ้าหม่อม" มีพี่น้องร่วมมารดา 5 คน ได้แก่

เจ้าแว่นแก้ว ณ เชียงตุง
เจ้าสุคันธา ณ เชียงใหม่
เจ้าแว่นทิพย์ ณ เชียงตุง
เจ้าสิงห์ไชย ณ เชียงตุง
เจ้าแก้วเมืองมา ณ เชียงตุง

 
      เจ้านางสุคันธา ได้เสกสมรสกับเจ้าชายแห่งราชสำนักเชียงใหม่ คือ เจ้าอินทนนท์ ณ เชียงใหม่ ราชบุตรพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงเชียงใหม่ ณ หอคำเชียงตุง โดยมีเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินทแถลงเจ้าหอคำ เจ้านางปทุมมหาเทวีเป็นเจ้าภาพเมื่อ พ.ศ. 2476 มีร้อยเอกโรแบรด์ ข้าหลวงอังกฤษผู้กำกับราชการนครเชียงตุงร่วมเป็นเกียรติในงานมงคลสมรส เจ้านางสุคันธาและเจ้าอินทนนท์ ณ เชียงใหม่ จึงเป็นสายใยแห่งความรักของราชสำนักเชียงใหม่-เชียงตุง รุ่นราชโอรส ราชธิดา "เจ้าหลวง" สองราชสำนักรุ่นสุดท้ายโดยมีโอรส ธิดา 5 พระองค์ คือ

เจ้ารัตนนินดนัย ณ เชียงใหม่
เจ้าวิไลวรรณ ณ เชียงใหม่
เจ้าสรรพสมบูรณ์ ณ เชียงใหม่
เจ้าไพฑูรย์ศรี ณ เชียงใหม่
เจ้าวีระยุทธ ณ เชียงใหม่


วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2546 เจ้านางสุคันธา ณ เชียงใหม่ ได้สวรรคตเมื่อชันษา 90 ปี ที่จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งพระศพบำเพ็ญกุศลที่วัดเจดีย์หลวง ส่งสการ ณ ฌาปนกิจสถานสันกู่เหล็ก ในวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2546




****************************************************************************
บริการจัดทัวร์ 
เชียงตุง เมืองยอง สิบสองปันนา คุนหมิงจีน หลวงพระบาง วังเวียงลาว มัณฑเลย์ พุกาม ทะเลสาบอินเล ตองจีรัฐฉาน

บริษัท เชียงตุงเรียลเอสเตท แอนด์ ทราเวล จำกัด
เลขที่ใบอนุญาต 21/00833
โทร : 092-891-2277,093-2537733,053-727255
ไลน์ไอดี : @chiangtung
เว๊ปไซค์ : Chiangtungbiz.com
youtube:http://bit.ly/2HDFdMO
 

บทความที่คุณอาจสนใจ

การเดินทางด้วยรถไฟในครั้งสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งรัตณโกสินนั้นเป็นสิ่งที่แปลกใหม่สำหรับชาวสยาม(ชาวไทย) เนื่องจาก ในสมัยนั้นการเดินทางส่วนมากด้วยเรืือ เกวียน และล้อ เป็นส่วนใหญ่ จะมีในระแวกกรุงเทพฯที่จะมีรถยนต์พอให้เห็นบ้างเท่านั้น แน่นอนที่การขนส่งสินค้ากับหัวเมืองพายับหรือทางเหนือต้องใช้เวลานาน....

-เมืองลากับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ และประชาคมอาเซียน

- สิ่งก่อสร้างแต่ละยุคแต่ละสมัยล้วนมีเรื่องราวและประวัติศาสตร์ ซึ่งอาจมองว่าสิ่งปลูกสร้างในอดีตเป็นเพียงอุปสรรคต่อ “การก้าวไปข้างหน้า”

บริษัท ไชยนารายณ์ โกลเบิ้ล จำกัด

66 หมู่1 ถนนโชคชัย4 แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพ 10320

Tel ซื้อสินค้า : 063 5599 896

Tel ซื้อสินค้า : 092 891 2277

Tel ท่องเที่ยว :

Line ซื้อสินค้า : @chainarai

Line ท่องเที่ยว : @chainarai

Email : chainarai456@gmail.com

แผนที่

เพจ สิบสองปันนา หลวงพระบาง

เพจ เชียงตุง อยู่ดีกินหวาน