ปริศนาพระเจ้าล้านตื้อแห่งแม่น้ำโขง

17 กุมภาพันธ์ 2020, 17:54:28

ปริศนาพระเจ้าล้านตื้อแห่งแม่น้ำโขงเมืองเชียงแสน




.. รัศมีของพระเจ้าล้านตื้อ จัดแสดงอย่างโดดเด่นใกล้ประตูทางเข้า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน จังหวัดเชียงราย

.. พระรัศมีเปลวขนาดใหญ่ ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “รัศมีของพระเจ้าล้านตื้อ ” บ้างว่าอาจเป็นของพระเจ้าทองทิพย์ เป็นประติมากรรมหล่อด้วยสำริด พระวรกายหายไป เหลือแค่พระรัศมี มีเดือยต่อเชื่อมสำหรับเสียบลงบนพระเกตุมาลาของพระพุทธรูป ฐานด้านล่างมีกลีบบัวหงายรองรับ

.. พระรัศมีมีลักษณะเป็นเปลวรังสีโดยรอบ 9 แฉก แต่ยอดตรงกลางหักหายไป ภายในกลวง มีรูปวงกลมน้อยใหญ่วางเรียงรายเป็นจังหวะตามกลีบรัศมี คือช่องสำหรับฝังหินหรืออัญมณีมีค่าเพื่อประดับตกแต่ง




.. นอกจากนี้ ยังพบร่องรอยของเทคนิคการหล่อที่แยกส่วนเป็นชิ้นๆ ขนาดเล็ก แล้วนำมาเชื่อมติดกันให้เป็นเนื้อเดียว ความหมายของเปลวรัศมี คือสัญลักษณ์แห่งการตรัสรู้ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนคำว่า พระเจ้าล้านตื้อ ตื้อ เป็นหน่วยนับของทางภาคเหนือแปลว่า โกฏิ

.. ข้อสันนิษฐานอันพิสดารพันลึก ในเมื่อเฉพาะพระรัศมียังมีขนาดความสูงถึง 70 เซนติเมตร เมื่อคำนวณเทียบสัดส่วนแล้ว พระเจ้าล้านตื้อเต็มองค์จักใหญ่โตมโหฬาร เพียงใดหนอ อย่างน้อยองค์พระต้องมีหน้าตักไม่ต่ำกว่า 9 เมตร และความสูงต้องประมาณ 10 เมตร



.. ทำให้มีผู้สันนิษฐานว่าบางทีพระรัศมีเปลวชิ้นนี้อาจเป็นของพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่ ซึ่งจมลงใต้แม่น้ำโขง ดังปรากฏในตำนานและพงศาวดารได้มีการกล่าวถึงวัดบน “กาะบัลลังก์ตระการ” หรือ “เกาะดอนแท่น” กลางแม่น้ำโขงเมืองเชียงแสน อันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่องค์หนึ่งที่อัญเชิญมาจากเมืองเชียงใหม่

.. เกาะนี้น่าจะถล่มจมลงในแม่น้ำโขงก่อน พ.ศ.2347 อันเป็นช่วงที่เมืองเชียงแสนถูกเผาทำลายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เพื่อไม่ให้เป็นที่ซ่องสุมกำลังพลของทหารพม่า

.. พงศาวดารฉบับราษฎร์พื้นเชียงแสน มีการกล่าวถึงการสร้างวัดพระแก้ว วัดพระคำ เมื่อ พ.ศ.1925 ความว่าเมื่อ พ.ศ.1929 พระมหาเถรสิริวังโส นำพระพุทธรูปชื่อพระแก้ว กับพระคำ เข้ามายังเชียงแสน เมื่อพบภูมิประเทศที่ดอนแท่น (กลางแม่น้ำโขง) ก็พอใจ ขออนุญาตจากมหาเทวี สร้างวิหารวัดพระคำไว้ด้านเหนือ วิหารวัดพระแก้วไว้ด้านใต้

.. มีผู้สันนิษฐานว่า พระคำ ในพงศาวดารนี้ อาจเป็นพระที่ชาวบ้านเรียกในเวลาต่อมาว่า พระเจ้าทองทิพ หรือ พระเจ้าล้านตื้อ จากตำนานที่ระบุถึง “เกาะดอนแท่น ” (บางครั้งเรียกดอนแห้ง เพราะน้ำแห้งขอด) นักวิชาการเชื่อว่า เดิมทีเกาะเก่าแก่กลางลำแม่น้ำโขงนี้เป็นผืนดินในเขตราชอาณาจักรไทย เป็นที่อาศัยของผู้คนเชียงแสนในยุคก่อน



.. เกาะแห่งนี้เป็นที่ตั้งของวัดกว่า 10 แห่ง ตามที่ระบุไว้ในพงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสนภาคที่ 61
ที่สำคัญยังเป็นที่ตั้งของวัดพระเจ้าทองทิพ อันเป็นที่ประดิษฐานขององค์พระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่ ซึ่งชาวบ้านกล่าวขานนามว่า “พระเจ้าล้านตื้อ ” พระนี้มีขนาดและน้ำหนักมาก สันนิษฐานว่าองค์พระคงจมลงไปพร้อมกับเกาะดอนแท่น ซึ่งปัจจุบันคือบริเวณน้ำโขงหน้าที่ว่าการอำเภอเชียงแสน

.. ความเชื่อเช่นนี้เป็นที่มาแห่งความพยายามที่จะช่วยกันค้นหาพระปฏิมาองค์นั้นให้พบให้จงได้
ที่มาของการได้มาซึ่งพระรัศมีเปลวก็ค่อนข้างพิสดาร

.. เริ่มจากปี พ.ศ.2446 มีคนไปทอดแหในแม่น้ำโขง บริเวณหน้าสถานีตำรวจเชียงแสน เห็นเศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่โผล่ขึ้นกลางน้ำ ทว่า พรานปลาลากขึ้นมาได้เฉพาะพระรัศมี แต่พระเศียรหลุดหาย ส่วนพระวรกายไม่พบ จึงนำพระรัศมีไปประดิษฐานไว้ที่วัดคว้าง (หลังตลาดเชียงแสน) ต่อมาย้ายไปรักษาที่วัดปงสนุกและวัดมุงเมืองตามลำดับ



.. เมื่อสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน เสร็จ จึงนำพระรัศมีออกจัดแสดงจนถึงทุกวันนี้
ต่อมาปี พ.ศ.2488 มีพรานปลาอีกคนหนึ่งพบเสาวิหารขนาดใหญ่จำนวน 2-3 ต้นล้มทับกัน จมอยู่ในน้ำโขง ลึกราว 4 เมตร ที่บริเวณสามแยกหน้าสถานีตำรวจ บริเวณเดียวกันกับที่พบเศียรพระ

.. ข่าวยิ่งเล่าลือกันว่ามีองค์พระจมอยู่ใต้น้ำบริเวณนั้น ปีต่อมามีคนไปลงอวน อวนติดใต้น้ำ ดำลงไปปลดก็พบว่าติดอยู่กับพระกรรณพระพุทธรูปขนาดใหญ่ คนที่ดำคุยว่ายืนอยู่บนพระอังสา ยกมือชูขึ้นไปยังไม่ถึงปลายพระกรรณ แต่ก็สุดปัญญาที่จะลากองค์พระขึ้นมาได้จนอวนขาด

.. ครั้นถึงปี พ.ศ.2492-2493 เพีย สมบูรณ์ (ชาวลาวอพยพจากหลวงพระบางมาตั้งถิ่นฐานในอำเภอเชียงแสน) ฝันว่าเห็นพระพุทธรูปล้ม คว่ำพระเศียรลงหันไปทางทิศใต้ ตอกย้ำข่าวที่เล่าลือกันแต่เดิมให้แพร่หลายยิ่งขึ้น

.. ดังนั้น ราวเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ของปีเดียวกัน จึงมีการลงคลำหาพระพุทธรูปกันอย่างจริงจัง โดยเริ่มจากตั้งศาลเพียงตาขึ้นในบริเวณเกาะดอนแท่นสำหรับทำพิธีบวงสรวงพระพุทธรูป เตรียมเรือเหล็กขนาดใหญ่ 2 ลำ พร้อมช้าง 3-4 เชือก นิมนต์พระสงฆ์ทำพิธี เนื่องจากกระแสน้ำแรงและเย็นมากจึงไม่อาจพบพระพุทธรูปแต่อย่างใด



... ก่อนปี พ.ศ.2500 เป็นการค้นหาแบบชาวบ้าน ยังไม่ใช่การค้นหาแบบเป็นทางการ ต่อมาระหว่าง พ.ศ.2504-2512 ใช้เครื่องมือทันสมัยยิ่งขึ้นหลายอย่างแต่ก็ล้มเหลวทุกครั้ง

.. ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เดือนมีนาคม พ.ศ.2509 บริษัทอิตาเลียน-ไทย จำกัด ได้สัมปทานการสร้างสนามบินในหลวงพระบาง มาพักอยู่ที่เชียงแสน (สมัยนั้นการเดินทางไปหลวงพระบางต้องใช้วิธีการเดินเรือจากเชียงแสนไปถึงจะสะดวกที่สุด)

.. นายชูสง่า ไชยพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ขณะนั้นจึงได้ให้ทางบริษัทดังกล่าว ส่งนักประดาน้ำพร้อมอุปกรณ์ต่างๆ ลงดำเพื่อค้นหาและกู้เอาพระพุทธรูปขึ้นมา ณ จุดที่เป็นเกาะกลางน้ำตรงหน้าสถานีตำรวจ บริเวณนี้เป็นน้ำวน เชี่ยวมาก นักประดาน้ำทนความเย็นไม่ไหว การค้นหาจึงไม่ประสบผลสำเร็จ ได้เพียงพระพุทธรูปองค์เล็ก และโบราณวัตถุอื่นๆ อีกเพียงเล็กน้อยจึงหยุดค้นหา

.. เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2552 ใช้ทั้งพิธีไสยศาสตร์ พุทธศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เฉพาะทางวิทยาศาสตร์ใช้เครื่องหาพิกัดวัตถุของกรมทรัพยากรธรณี ก็ยังล้มเหลวเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา
ในขณะที่ฝั่งไทยค้นหาเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2552 ทางการลาวก็มีการขุดหาเช่นกัน จนถึงวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ 2553 พบพระพุทธรูปขนาดเล็ก และพระพิมพ์ขนาดย่อม ศิลปะเชียงแสนหลายองค์ จุดที่ลาวพบห่างจากจุดที่คณะค้นหาฝั่งไทยไปราว 2 กิโลเมตร




.. ท่ามกลางความเชื่อของคนกลุ่มหนึ่ง ก็กลับมีบางกลุ่มบางคนที่ไม่เชื่อ นายนิกร เหล่าวานิช ประธานชมรมรักเชียงแสน เป็นหนึ่งในคนที่ไม่เชื่อว่า พระเจ้าล้านตื้อมีจริง

.. โดยให้สัมภาษณ์ว่า“เกาะดอนแท่นเป็นเกาะกลางแม่น้ำโขง เป็นเกาะศักดิ์สิทธิ์ พระมหากษัตริย์โบราณใช้เป็นสถานที่ทำพิธีทางศาสนา ส่วนเปลวพระรัศมีนั้น ไม่ได้เอาขึ้นมาจากแม่น้ำโขง แท้จริงแล้วถูกทิ้งไว้ที่ซากวัดเค้า มีการขโมยขนมาทางเรือ เอาพลอยสีไปหมด ปล่อยเปลวรัศมีทิ้งไว้ที่วัดร้าง เมื่อกรมศิลปากรเข้ามาสำรวจ ก็เอามาไว้ที่วัดมุงเมือง สี่แยกไปรษณีย์เชียงแสน ต่อมาก็ย้ายไปวัดเจดีย์หลวง สุดท้ายกรมศิลปากรก็นำไปเข้าพิพิธภัณฑ์ 

.. นายนิกรติดตามค้นคว้า ไปสัมภาษณ์พูดคุยกับลูกหลานคนเชียงแสนรุ่นเก่าที่ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อำเภอคูบัว จังหวัดราชบุรี ไม่มีใครรู้เรื่องนี้ ดังนั้น คนเชียงแสนรุ่นใหม่ย้ายเข้ามาไม่เกิน 170 ปี จะรู้เรื่องพระเจ้าล้านตื้อได้อย่างไร

.. ปริศนาร้อยแปดพันเก้า ความที่พระรัศมีชิ้นนี้มีขนาดใหญ่โตมากที่สุดเท่าที่เคยพบในประเทศไทย และละแวกเพื่อนบ้าน อุษาคเนย์ ทำให้ผู้คนสนใจอยากทราบคำตอบที่แท้จริง

.. หากพระพุทธรูปล้านตื้อนี้มีอยู่จริง ต้องถือว่าเป็นพระพุทธรูปหล่อโบราณที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เพราะพระศรีศากยมุนี วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพมหานคร ที่รัชกาลที่ 1 อัญเชิญมาจากวัดพระมหาธาตุสุโขทัย ซึ่งถือว่าเป็นพระพุทธรูปหล่อโบราณที่ใหญ่ที่สุดในขณะนี้ มีความสูงเพียง 8 เมตรเท่านั้น

.. รัศมีชิ้นนี้จุดประกายให้เกิดการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ นำไปสู่การค้นหาพระพุทธรูปที่จมอยู่ในลำน้ำโขง นับครั้งไม่ถ้วน? ตั้งแต่การพบครั้งแรกจนกระทั่งถึงทุกวันนี้นานกว่า 80 ปีแล้ว เรื่องราวยังคงเป็นที่สนใจและถูกเล่าขานผ่านลูกหลานชาวเชียงแสนอย่างท้าทาย ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือเป็นเพียงนิทานพื้นบ้าน

 
Cr.มติชน โดย อ.เพ็ญสุภา สุขคตะ


 
**************************************************
บริการจัดทัวร์
ทัวร์เชียงตุง ทัวร์เมืองยอง ทัวร์สิบสองปันนา ทัวร์คุนหมิงจีน ทัวร์หลวงพระบาง ทัวร์วังเวียงลาว ทัวร์มัณฑเลย์ ทัวร์พุกาม ทัวร์ทะเลสาบอินเล ทัวร์ตองจี ทัวร์รัฐฉาน

บริษัท เชียงตุงเรียลเอสเตท แอนด์ ทราเวล จำกัด
เลขที่ใบอนุญาต 21/00833
โทร : 092-891-2277,093-2537733,053-727255
ไลน์ไอดี : @chiangtung
เว๊ปไซค์ : Chiangtungbiz.com
youtube:http://bit.ly/2HDFdMO

บทความที่คุณอาจสนใจ

ปัจจัยเกี่ยวกับการนำศพไปป่าช้าหรือเรื่องราว วัสดุสิ่งของเกี่ยวกับผียังมีหม้ออีกอย่างหนึ่งที่ผู้คนล้านนาสมัยก่อนได้ใช้นำหน้าขบวนศพไปสู่ป่าช้า ผู้คนเรียกกันว่า หม้อไฟ ก่อนที่จะนำศพไปป่าช้าผู้คนที่มาร่วมงานกุศลศพจะช่วยกันเตรียมหม้อไฟ โดยการไปซื้อหม้อต่อม(หม้อก้นกลม ปากผาย) มาเตรียมไว้เสร็จแล้วนำลวดมาทำสาแหรกเพื่อวางหม้อไฟผูกสาแหรกติดกับปลายคันไม้สำหรับแบก

เป็นพระมหากษัตริย์สยาม รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี

บริษัท ไชยนารายณ์ โกลเบิ้ล จำกัด

66 หมู่1 ถนนโชคชัย4 แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพ 10320

Tel ซื้อสินค้า : 092 891 2277

Tel ซื้อสินค้า : 063 559 9896

Tel ท่องเที่ยว :

Line ซื้อสินค้า : @chainarai

Line ท่องเที่ยว : @chainarai

Email : chainarai456@gmail.com

แผนที่

เพจ สิบสองปันนา หลวงพระบาง

เพจ อยู่ดีกินหวาน